กระทรวงพาณิชย์ ไร้กังวลนโยบายสหรัฐฯ ยุค “โจ ไบเดน” เชื่อมีสัญญาณที่ดี ทิศทางส่งออกเป็นบวก ชี้อาจได้สิทธิทบทวน GSP
เมื่อเร็วๆ นี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง ยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ รองรับหลังการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามมาโดยตลอดร่วมกับภาคเอกชน เพราะมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในช่วงปีที่ผ่านมา (2562) สหรัฐฯเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของประเทศไทย รองจาก อาเซียน จีน และญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ในปี 2563 มูลค่าการค้าไทย-สหรัฐ เดือน ม.ค.-ก.ย. มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท ส่วนตัวเลขการส่งออกไทยไปสหรัฐฯเดือน ม.ค.-ก.ย. รวม9เดือนแรกของปี มีมูลค่าการค้า 7.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.7 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย เป็นบวกร้อยละ 7.4 เฉพาะเดือน ก.ย.ปี 2563 เป็นบวกถึงร้อยละ 19.7 โดยมีสินค้า 4 กลุ่มหลักเป็นตัวสำคัญประกอบด้วย อิเล็คทรอนิกส์ อาหาร เครื่องตกแต่งบ้านของใช้ในบ้าน อุปกรณ์วัสดุทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น
ดังนั้น ตามนโยบายของ นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คาดว่าเรื่องที่ยังคงอยู่ คือ 1.สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ แต่อาจผ่อนปรนลง
2.เรื่องอินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ กลุ่มประเทศมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิคของสหรัฐฯ น่าจะยังอยู่โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอินโดแปซิฟิก
3.คาดว่าการใช้เงื่อนไขการให้ฝ่ายเดียวทางการค้าหรือสิทธิพิเศษทางการค้าของสหรัฐน่าจะยังคงอยู่ เช่น GSP หรือการจัดการกับการทุ่มตลาด และเซฟการ์ด แต่ขั้นตอนและรูปแบบอาจมีความผ่อนปรนมากขึ้น
ขณะเดียวกัน คาดว่า นโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ จะแตกต่างจากเดิม โดยสหรัฐจะให้ความสำคัญกับการเจรจาทางการค้าในรูปแบบพหุภาคีมากขึ้น เช่น ผ่านองค์การการค้าโลก (WTO)มากขึ้น และที่ต้องจับตาการกลับมาใช้ CPTPP โดยอาจเพิ่มการทำข้อตกลงทางการค้าใหม่ เช่น FTA กับประเทศต่าง ๆ และเงื่อนไขสิ่งแวดล้อม แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิมนุษยชน มาเป็นเงื่อนไขต่อรองหรือเจรจาทางการค้ามากขึ้น
ในภาพรวมคิดว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมของการค้าโลก ที่ผ่อนปรนขึ้นซึ่ง ประเทศไทยจะมีผลในทางบวกร่วมกันด้วย โดยวันนี้คาดการณ์ว่าวัตถุดิบที่ไทยจะส่งไปจีนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐ อาจจะมีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้น หากสงครามการค้าผ่อนคลายลงไทยก็จะได้รับประโยชน์ส่วนนี้ด้วย หรือประเทศไทยอาจจะใช้วิธีพหุภาคีเพื่อเจรจาต่อรองทางการค้าได้มากขึ้น
โดยตนให้กระทรวงพาณิชย์ ต้องเดินหน้าทำงานร่วมกับภาคเอกชนโดยใกล้ชิดต่อไปในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์ ให้ร่วมมือกับอาเซียนใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อเจรจาต่อรองทางการค้าร่วมกัน และปรับรูปแบบการเจรจาทางการค้าเป็นอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ให้ความสำคัญแพลตฟอร์มของสหรัฐเช่น Amazon โดยต้องเปิดห้องหรือร้านในนั้นมากขึ้น
ขณะที่ รายงานของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐจะลดความแข็งกร้าวลง ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถเจรจาทางการค้าแบบฉันมิตรกับสหรัฐได้มากขึ้น รวมทั้งไทยอาจพิจารณาเข้าร่วมเวทีการเจรจา FTA ใหม่ๆที่มีสหรัฐฯ ร่วมอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตามเรื่องสงครามการค้าจะยังอยู่แต่ไทยยังมีโอกาสส่งสินค้าไทยทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ และสินค้าสหรัฐฯในตลาดจีนได้ รวมถึงไทยอาจจะได้รับนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตมายังไทยเพิ่มมากขึ้น
ส่วนประเด็นการปฏิรูป WTO โดยสหรัฐจะให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีและกฎระเบียบทางการค้ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้กลไก WTO เดินหน้าต่อได้ ทั้งการเลือกตั้งผู้อำนวยการใหญ่ และการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทย และการทบทวนสิทธิ GSP ที่สหรัฐจะให้ความสำคัญกับมาตรฐาน สิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชนมากขึ้น ซึ่งไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อสร้างโอกาสในการเจรจาทบทวนการคืนสิทธิ GSP ให้ไทยด้วย