กระทรวงการคลัง ย้ำ มาตรการสินเชื่อ Soft loan ออมสิน-ขยายคุณสมบัติของผู้ประกอบการ ค้ำ บยส. ช่วย SME ท่องเที่ยวได้จริง หนุนสภาพคล่อง ดำเนินธุรกิจต่อไปได้
วันที่ 12 พ.ย.63 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ออกแถลงการณ์ชี้แจง ประเด็นข้อวิจารณ์การให้ความช่วยเหลือ SME โดยระบุว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้มีการติดตามและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และดำเนินมาตรการเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ในครั้งนี้ มีทั้งการเสนอมาตรการใหม่ และการแก้ไขปัญหาข้อติดขัดของมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขปัญหาข้อติดขัด และขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึง และมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.ปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อต่อราย Soft loan ท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องของธนาคารออมสิน จากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย เป็นไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการ ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
2.ขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการภายใต้โครงการ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อ Soft loan ท่องเที่ยวตามข้อ 1 แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตามมาตรการดังกล่าว จากเดิมที่ บสย. ค้ำประกันให้เฉพาะกับผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับสินเชื่อตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan)
ทั้งนี้ บสย. คิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดยเริ่มค้ำประกันในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการแต่ละรายได้รับสินเชื่อ
3.ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อ Extra cash วงเงิน 10,000 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี
4.ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อ Soft loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี
เห็นได้ว่าการปรับปรุงมาตรการด้านการเงินที่ได้กล่าวข้างต้น ทำให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวของรัฐบาลครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธุรกิจรายย่อย ตลอดจนสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ
โดยกระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการที่ได้ดำเนินการไปจะทำให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นไปอย่างทั่วถึงและเพียงพอ และเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องให้ประคับประคองธุรกิจ และรักษาการจ้างงานให้ผ่านพ้นวิกฤตช่วงนี้ไปได้
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมได้อย่างทันท่วงทีต่อไป