BTS ชี้แจง ราคารถไฟฟ้า 158 บาทตลอดสาย ไม่จริง!


บีทีเอส ยันไม่จริง ข่าวลือขึ้นค่าโดยสารตลอดสาย 158 บาท แจงราคาค่าโดยสารจริง เริ่มต้น 15 บาท ตลอดสายไม่เกิน 65 ย้ำ ไม่ให้เป็นภาระผู้ใช้บริการ

วันที่ 4 ธ.ค.63 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าว “การปรับขึ้นราคาโดยสาร รถไฟฟ้าบีทีเอส ตลอดเส้นทางเป็นจำนวน 158 บาท” โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. การกำหนดราคาค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานเดิม รถไฟฟ้าบีทีเอส ในฐานะผู้รับผิดชอบการบริหารรถไฟฟ้า ระยะทาง 23.5 กม. เส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารปัจจุบันในอัตรา 16 ถึง 44 บาท (ตามระยะทาง) ขณะที่ช่วงส่วนต่อขยายทั้งหมด (อ่อนนุช-สำโรง-เคหะฯ วงเวียนใหญ่-บางหว้า หมอชิต-วัดพระศรีฯ) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้กำหนดค่าโดยสาร

2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในฐานะผู้ลงทุนขบวนรถ ส่วน กทม. ในฐานะผู้ลงทุนงานโยธาและระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ได้ร่วมรับผิดชอบดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ทำให้ส่วนต่อขยายประกอบด้วยช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-เคหะ และช่วงหมอชิต-คูคต จำนวน 59 สถานี รวมระยะทางถึง 68.25 กม. สามารถเชื่อมโยงการเดินทางครอบคลุมถึง 3 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี , กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ โดยมีความคืบหน้าพร้อมเปิดเป็นทางการครบทั้ง 59 สถานี ในวันที่ 16 ธ.ค.2563 นี้

3. ประเด็นค่าโดยสารที่จะเพิ่มขึ้นจากเส้นทางเดินรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยาย ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า, ช่วงอ่อนนุช-เคหะ และ ช่วงหมอชิต-คูคต ยังคงเป็นการกำหนดโดยกรุงเทพมหานคร BTSC อยู่ในฐานะผู้รับจ้างการเดินรถในส่วนต่อขยายนี้เท่านั้น

และที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย รวมถึง กทม.มีเป้าหมายในการทำให้ค่าโดยสารมีอัตราที่เหมาะสม โดยจะมีการเก็บค่าโดยสารตามระยะทางเริ่มต้นจาก 15 บาท และรวมตลอดเส้นทางอยู่ในระดับไม่เกิน 65 บาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระกระทบต่อคุณภาพชีวิตชาวกรุงเทพมหานคร จากค่าโดยสารตลอดเส้นทางที่ศึกษาไว้เดิมสูงสุดถึง 158 บาท

จนนำมาสู่การเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทาน เพื่อให้สามารถจัดเก็บค่าโดยสารตามเป้าหมายและแก้ไขปัญหาเรื่องภาระหนี้สินของกทม. ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติจากที่ประชุม ครม.

4. BTSC ขอยืนยันในข้อเท็จจริง และถึงแม้จะต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถส่วนต่อขยาย จากหนี้คงค้างของกทม. กว่า 8,000 ล้านบาท ทางบริษัทฯ ให้คำมั่นสัญญาจะรับผิดชอบให้บริการ การเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส แก่ชาวกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล เป็นปกติ และดำเนินการตามแผนการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมระยะทาง 68.25 กม.ต่อไป จนกว่าจะมีความชัดเจนจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครม.