ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 เติบโตดีขึ้นกว่าปีนี้ โดยขยายตัว 2.6% ในกรณีพื้นฐาน หรืออยู่ในกรอบ 0.0-4.5% ขณะที่ได้ปรับประมาณการจีดีพีปี 2563 มาเป็น -6.7%
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แม้จะมองเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวก 2.6% โดยมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งการบริโภคและการลงทุน แต่อัตราการเติบโตของจีดีพีที่ถือว่าไม่สูงนักดังกล่าว สะท้อนภาพของความไม่แน่นอน โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดยังเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ท่ามกลางการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดที่ยังมีประเด็นเรื่องความเพียงพอและการเข้าถึงวัคซีน ทำให้คาดว่าแนวทางการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยคงจะทยอยทำได้อย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่า และปัจจัยการเมืองในประเทศ ในขณะที่การส่งออกไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.0% หลังจากที่คาดว่าจะหดตัว 7.0% ในปี 2563 นี้ โดยทิศทางการส่งออกที่ฟื้นตัวช้ามาจากปัจจัยกดดันทั้งในเรื่องค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ฯ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่างบประมาณภาครัฐที่เหลือจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รวมกับพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 มีจำนวนราว 5 แสนล้านบาท น่าจะเพียงพอที่จะดูแลเศรษฐกิจโดยไม่ต้องมีการก่อหนี้เพิ่มเติม ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศอย่างรุนแรงจนต้องมีมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง
ส่วนนโยบายการเงินนั้น นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าธปท.คงประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นระยะ โดยหากปรากฏสัญญาณลบของการฟื้นตัว กนง.ก็ยังมีพื้นที่ในการลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้อีก 0.25% หรือลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ แต่ทั้งนี้ คงต้องดำเนินการควบคู่กับนโยบายอื่นๆ ด้วยที่น่าจะมีประสิทธิผลตรงจุดกว่า เช่น การปรับปรุงโครงการ Soft Loans และการค้ำประกันสินเชื่อโดย บสย. เป็นต้น ขณะที่ โจทย์สำคัญในภาคการเงิน คือ การดูแลเรื่องคุณภาพหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ยังมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของพอร์ตสินเชื่อรวม ให้สามารถประคองการจ่ายหนี้ปกติได้ต่อเนื่อง ขณะที่ มาตรการผ่อนปรนเกณฑ์จัดชั้นหนี้ของ ธปท.คงทำให้ Reported NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย แม้จะเพิ่มขึ้นเข้าหา 3.53% ณ สิ้นปี 2564 จากระดับประมาณการที่ 3.35% ณ สิ้นปีนี้ แต่ก็ถือเป็นระดับที่ไม่สูง
สำหรับทิศทางอุตสาหกรรมปี 2564 นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า แม้อุตสาหกรรมหลักของไทยส่วนใหญ่จะฟื้นตัวเป็นบวก แต่ก็เป็นผลจากฐานที่ต่ำมากในปี 2563 และเนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมมีเงื่อนไขที่ต่างกัน เส้นทางการฟื้นตัวจึงไม่เท่ากัน โดยอุตสาหกรรมที่จะฟื้นตัวช้าและมีประเด็นติดตามสำคัญ 3 อุตสาหกรรม คือ
หนึ่ง ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะยังได้รับผลกระทบหนักจากไวรัสโควิด ทำให้ภาครัฐคงต้องพิจารณามาตรการช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทั้งสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงการจัดตั้งกองทุนและการ Warehouse สถานประกอบการ เพื่อประคองธุรกิจส่วนใหญ่ให้มีโอกาสไปต่อได้ สอง อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ที่อาจยังมีประเด็นด้านสภาพคล่อง ท่ามกลางหน่วยเหลือขายสะสมที่คาดว่าจะสูงราว 2.2 แสนหน่วย ณ สิ้นปี 2564 ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงยังต้องรอบคอบในการเปิดโครงการใหม่ และสาม รถยนต์ ซึ่งเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวและคงผ่านปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่ถัดจากนี้อุตสาหกรรมจะเจอโจทย์ที่ต้องยกระดับการผลิตไปสู่รถยนต์แห่งอนาคต มิเช่นนั้นจะสูญเสียศักยภาพการเติบโตในตลาดส่งออกได้ ซึ่งภาพนี้ ก็นับเป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่หากไม่ปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปอย่างถาวร