คาดค่าใช้จ่ายคนกรุงช่วงปีใหม่สะพัด 30,050 ล้านบาท เฉลี่ย 5,300 บาท/คน


ใกล้เข้าสู่เข้าช่วงปลายปี 2563 เรื่องหนึ่งที่ผู้ประกอบการคาดหวัง คือการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงของเทศกาลปีใหม่ ที่จะทำให้ธุรกิจมีเงินสะพัด

การสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 จะมีการจับจ่ายใช้สอยคิดเป็นเม็ดเงินจำนวน 30,050 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยสำคัญมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการ ไม่ว่าจะเป็น ช้อปดีมีคืน และคนละครึ่ง ซึ่งช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าจับตามองคือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่ายมากขึ้น

เผยพฤติกรรมคนกรุงช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564

ข้อมูลจากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าคนกรุงมีการใช้เงินจับจ่ายใช้สอยอยู่ที่ 5,300 บาท/คน โดยส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลในเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ทำให้มีการปรับลดค่าใช้จ่ายลดลงทุกส่วน ยกเว้น ในเรื่องสังสรรค์, ค่าอาหารเครื่องดื่ม, ค่าช้อปปิ้ง ที่มีการประเมินว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน

ด้านพฤติกรรมของคนกรุง พบว่ากว่าร้อยละ 42.5% เลือกที่จะฉลองปีใหม่ในกรุงเทพฯ เพราะต้องการหลีกเลี่ยงสภาพจราจรที่ติดขัด โดยการเลี้ยงสังสรรค์นั้น มีการปรับรูปแบบจากเดิมที่ออกไปรับประทานตามร้านอาหารเปลี่ยนเป็นซื้ออาหาร และเครื่องดื่มกลับมารับประทานที่บ้านแทน

หากลงในรายละเอียดในเรื่องมูลค่าการใช้จ่ายของประเภทกิจกรรม มีดังต่อไปนี้

  • การเลี้ยงสังสรรค์ ค่าอาหาร/เครื่องดื่ม มากที่สุด 10,500 ล้านบาท
  • ช้อปปิ้ง ซื้อสินค้าส่วนตัว ของขวัญ 8,400 ล้านบาท
  • เดินทางในประเทศ ค่าเดินทาง ที่พัก 7,250 ล้านบาท
  • ค่าบริการ กิจกรรมสันทนาการ 1,850 ล้านบาท
  • ทำบุญ ไหว้พระ สวดมนต์ 1,400 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ให้เงิน บัตรของขวัญ 650 ล้านบาท

อีกทั้ง ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า กลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ประกอบการมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคค่อนข้างมาก โดยโปรโมชันลดราคามีผลต่อการเลือกใช้จ่ายสูงถึง ร้อยละ 92 ถัดมาเป็นโปรโมชันเรื่องของแถม คิดเป็นร้อยละ 65, ผ่อน 0% ผ่านบัตรเครดิตในระยะเวลานานขึ้น คิดเป็นร้อยละ 46%, สิทธิประโยชน์บัตรเครดิตเพื่อแลกคะแนน รับเครดิตเงินคืน คิดเป็นร้อยละ 36% เช่นเดียวกับแคมเปญชิงโชค ที่คิดเป็นร้อยละ 36% เหมือนกัน เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับราคาสินค้า รวมถึงการยืดระยะเวลาชำระเงิน