สิทธิ์ใหม่ “เราเที่ยวด้วยกัน” อัดโปร หวังกระตุ้นท่องเที่ยวไทย


ปรับปรุงโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพิ่มสิทธิห้องพัก ขยายถึง 30 เม.ย.64 ให้ข้าราชการลาพักร่วมโครงการ เพิ่มเงินค่าเครื่องบินเป็น 3,000 บาท ใน 7 จังหวัดท่องเที่ยว เปิดโอกาสรีสอร์ต-โฮมสเตย์ ร่วมโครงการ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (8 ธ.ค.63) เห็นชอบการปรับปรุงโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โดยปรับลดกรอบวงเงินโครงการฯ เหลือ 15,000 ล้านบาท จาก 20,000 ล้านบาท ตามรายละเอียด ดังนี้

1.ปรับปรุงขอบเขตการใช้สิทธิ์จำนวนการจองห้องพัก จากเดิมประชาชนจองที่พักได้ไม่เกิน 10 คืน (Room night) ต่อ 1 สิทธิ์ สามารถจองที่พักเพิ่มอีก 5 คืน (Room night) เป็น 15 คืน (Room night) ต่อ 1 สิทธิ์

2.เพิ่มจำนวนห้องพักอีก 1 ล้านคืน (Room night) จากเดิม 5 ล้านคืน (Room night) เป็น 6 ล้านคืน (Room night)

3.ขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการ ประกอบด้วย

3.1 การใช้สิทธิ์โครงการ จากสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 64 เป็นวันที่ 30 เม.ย. 64
3.2 การจองโรงแรมที่พัก จากช่วงเวลา 06.00 – 21.00 น. เป็นช่วงเวลา 06.00 – 24.00 น.

4.เพิ่มโรงแรมที่พักที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบการโรงแรม แต่ต้องมีหมายเลขประจำตัวของผู้เสียภาษี (Tax ID) และมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) (รีสอร์ท,โฮมสเตย์)

5. อนุมัติให้ธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การท่องเที่ยวสามารถรับ E-Voucher ได้ ประกอบด้วย ธุรกิจการขนส่ง ธุรกิจสปาหรือนวดเพื่อสุขภาพ รถเช่าเพื่อการท่องเที่ยว และเรือเช่าเพื่อการท่องเที่ยว โดยมีเงื่อนไขว่าต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นหน่วยงานภาครัฐ มีการเก็บค่าใช้บริการ และต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการอย่างถูกต้องจากหน่วยงานภาครัฐ

6.ปรับเกณฑ์การสนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน จาก 2,000 บาทต่อที่นั่ง เป็น 3,000 บาทต่อที่นั่งเฉพาะเมืองหลักทางการท่องเที่ยว 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สงขลา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ และเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีอัตราการร่วมจ่าย (Co-pay) เท่าเดิม

7.กำหนดหลักเกณฑ์การลาสำหรับข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ลงทะเบียนและใช้สิทธิ์ โครงการฯ โดยกำหนดให้แสดงหลักฐานประกอบการลา ได้แก่ (1) หลักฐานแสดงการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ และ (2) หลักฐานแสดงการเช็คอินและเช็คเอ้าท์โรงแรงที่พักตามโครงการฯ

8.จัดกิจกรรมกระตุ้นการเดินทางในรูปแบบ Consumer Fair จำนวน 3 ครั้ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคเหนือ และภาคใต้ พร้อมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเข้าร่วมโครงการฯ ควบคู่กับมาตรการสาธารณสุขต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทางท่องเที่ยว งบประมาณ 9 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินโครงการฯ

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียด “โครงการกำลังใจ” โดยเปิดให้บริษัทนำเที่ยวที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ โดยใช้หลักเกณฑ์เดิมของโครงการฯ (เป็นบริษัท นำเที่ยวที่จดทะเบียนถูกต้องตามพ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยว โดยจดทะเบียนก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2563) รวมบริษัทนำเที่ยวที่กรอกรายการนำเที่ยวไม่ครบ 15 รายการ สามารถกรอกเพิ่มเติมได้