หลังจากที่ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำการทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่างพบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี
โดย 1 ใน 8 ตัวอย่างที่ถูกสำรวจมี ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ กราสเจลลี่ (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี) ขนาด 460 มล.(วันผลิต 07-10-2020 / 07-10-2021) ล่าสุด บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด ได้ออกหนังสือชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น ดังต่อไปนี้
1.บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด ได้ให้ความสำคัญกับขั้นตอนการผลิต ตลอดจนกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้าในทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพก่อนถึงมือผู้บริโภค โดยมีกระบวนการผลิตที่ได้รับรองมาตรฐานจาก GMP และมาตรฐานโรงงานด้าน ISO 9001 ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบคุณภาพที่กำกับดูแลทั้งการออกแบบ การพัฒนาการผลิต การติดตั้ง และการบริการ รวมทั้งได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหารจาก สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (ฮาลาล)
2.เครื่องดื่มยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ ได้มีการรับรองข้อมูลโภคชนาการ จากห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 ที่ได้รับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นอกจากนี้ ทางห้องปฏิบัติการ (Lab) ของบริษัทฯ ได้มีการวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินซีในทุก Lot. ของการผลิต อย่างสม่ำเสมอ
3.บริษัทฯ ใคร่ขอยืนยันว่า เครื่องดื่ม ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ ในทุก Lot. ได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซี ตามที่ได้ระบุไว้บนฉลากของเครื่องดื่ม แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซี ที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่นๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ อาจส่งผลให้การสลายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ และวิตามินซี ยังสามารถสลายตัวได้ง่ายในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น แต่วิตามินซี ที่สลายไปนั้น จะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม
4.ทีมงานวิจัยของบริษัทฯ ได้มีการคิดค้นวิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์และนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เครื่องดื่ม ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ คงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ตาม รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตุถึงการทดลองในครั้งนี้ โดยอธิบายว่า
วิตามินซีสลายตัวได้เร็วที่สุดในเจ้าพวกวิตามินด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวต่อออกซิเจนมาก (มีความ ไวต่อปฎิกิริยา Oxidation) นอกจากนี้ยังสามารถสลายตัวได้ง่ายในบรรยากาศที่มีความร้อน แสง ความชื้น โลหะหนัก (เช่น เมื่อตั้งทิ้งไว้ในบรรยากาศที่มีทองแดง) และในสิ่งแวดล้อมที่มีสภาพเป็นด่าง เป็นต้น…
สสารไม่ได้สูญหายไปไหนแค่เปลี่ยนรูปแล้วเปลี่ยนฟอร์ม เป็นไปไม่ได้เลยที่จะตรวจแล้วได้ 0 และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตรวจแล้วค่าเต็ม
การตรวจดังกล่าวมีเบื้องหลังหรือไม่มาลองติดตามกันครับ หลายยี่ห้อถูกเคลมว่าตรวจไม่เจอวิตามินเลยเท่ากับศูนย์ แต่บางยี่ห้อตรวจว่าเจอวิตามินซีเต็ม มันดูย้อนแย้งและมีพิรุธชอบกล อาจารย์อ๊อดขอคืนความเป็นธรรมให้กับวิตามินซี ยี่ห้อที่ตรวจแล้วมีค่าเต็มมันใช้วิตามินซีรุ่นมนุษย์เหล็กหรือไงครับถึงไม่สูญสลายไปเลย
การสุ่มตรวจมีความเป็นธรรมหรือไม่ แต่ละล็อตที่ออกมาใส่วิตามินใหม่ๆพร้อมกันหรือไม่ อยากให้พวกเราฉุกคิด ยี่ห้อ ก.ไก่ ออกจากไลน์ผลิตใหม่ๆก็นำมาตรวจก็เจอเยอะ ส่วนยี่ห้อ ข.ไข่ ผลิตออกมานานแล้วมาสุ่มตรวจก็เจอน้อย ต้องถามกลับว่าตรวจด้วยเทคนิคอะไร และสุ่มตรวจอย่างไร เพราะหลายยี่ห้อที่มีผลต่างกัน ทั้งที่ผลิตที่โรงงานเดียวกันก็มี
อาจารย์อ๊อดขอฝากให้ฉุกคิด เพราะไอ้ขบวนการตรวจๆ กลุ่มนี้แหละ ที่เคยอยู่ในกระบวนการฟ้องร้องกับกระทะดัง ที่อาจารย์อ๊อดเคยผ่าพิสูจน์ ถึงเวลาจะขึ้นศาลกับ กลับคำให้การเฉย
งานนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่ ขอให้ประชาชนฉุกคิด โดยเฉพาะยี่ห้อที่วิตามินซีเต็มครบตามฉลาก ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย