สำรวจแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย จังหวัดไหนมีมากที่สุด และอยู่ในธุรกิจอะไรบ้าง


ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวถือว่าเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในหลายอุตสาหกรรมที่ยังต้องพึ่งแพงแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น เมียนมา, กัมพูชา และสปป.ลาว เพื่อให้ธุรกิจ และกิจการที่ดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว

ปัจจัยสนับสนุนหลายด้านที่ทำให้แรงงานต่างด้าวเป็นที่นิยมของผู้ประกอบการการไทยมีหลายส่วนด้วยกัน ทั้งในเรื่องค่าแรง, ความสู้งาน รวมถึงทำอาชีพที่คนไทยไม่ทำ ดังนั้น หากเราสังเกตดี ๆ ตามสถานที่ต่าง ๆ ก็จะพบเห็นแรงงานต่างด้าวเหล่านี้เดินปะปนกับคนไทย

แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเกิดขึ้นในประเทศ และกลับมาระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้ทำให้แรงงานต่างด้าวลดลงมากเท่าไหร่นัก โดยข้อมูลของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน (ณ เดือนตุลาคม 2563) พบว่าประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าว รวม 2,482,256 คน กระจายทำงานอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่กทม. 585,433 คน ปริมณฑล 713,036 คน ภาคกลาง 567,766 คน ภาคเหนือ 216,682 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 57,173 คน ภาคใต้ 342,166 คน

อีกทั้ง แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่จะเดินทางมาจาก 3 ประเทศหลัก คือเมียนมา 1,560,718 คน, กัมพูชา 501,401 คน, สปป.ลาว 225,742 คน โดย 5 จังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวมากที่สุด ประกอบด้วย อันดับ 1 กรุงเทพฯ 585,433 คน, อันดับ 2 สมุทรสาคร 233,071 คน, อันดับ 3 สมุทรปราการ 157,003 คน, อันดับ 4 ชลบุรี 153,364 คน และอันดับ 5 ปทุมธานี 131,646 คน

ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ, กิจการผลิตหรือจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม และกิจการก่อสร้าง