การกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยได้สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงส่งท้ายปีที่เป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลอง และภาคธุรกิจการท่องเที่ยวหวังที่จะโกยรายได้ช่วงนี้ให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะไม่ค่อยเป็นใจสักเท่าไหร่นัก เมื่อการกลับมาของโควิด-19 รอบนี้กลายเป็นสร้างผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์หลายจังหวัดที่ทำให้การวางแผนเดินทางท่องเที่ยวต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่า แม้ว่าทางรัฐบาลจะมีปัจจัยสนับสนุนอย่างมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ได้รับผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี แต่ก็ยังไม่ทำให้ท่องเที่ยวไทยกลับมาฟื้นอย่างเต็มตัวมากนัก โดยสาเหตุสำคัญมาจากการขาดหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และต้องหวังพึ่งพาการท่องเที่ยวของคนในประเทศมากขึ้น โดยสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยในเดือนตุลาคม พบว่าต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน -34.5% รวมถึงรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวชาวไทย -49.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา
จากที่กล่าวมาข้างต้น มองได้ว่าชาวไทยมีอัตราการท่องเที่ยว และใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนลดลง แม้ว่าจะมีมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เข้ามาสนับสนุน แต่เมื่อมองภาพรวม พบว่าการฟื้นตัวของท่องเที่ยวในประเทศยังไม่ทั่วถึง ซึ่งจังหวัดที่ฟื้นตัวได้ดีกว่ามักเป็นจังหวัดที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว
โควิด-19 ตัวฉุดท่องเที่ยวไทย
ชาวไทยยังมีความกังวลในเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่เสมอ ดังนั้น หากมีการกลับมาแพร่ระบาดเมื่อไหร่จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วในเรื่องของการท่องเที่ยว ดูได้จากเหตุการณ์ที่จังหวัดสมุทรสาครที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้ความถี่การเดินทางของผู้คนลดลงทันที โดยข้อมูลการเดินทางของ Facebook ก็ลดลงทันทีเช่นกัน โดย 1 วันหลังการแพร่ระบาด ข้อมูลการเดินทางของ Facebook ของสมุทรสาครลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 23.9 percentage point ซึ่งสูงกว่ากรณีของระยอง (ลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 2.0 percentage point) และเชียงราย (ลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 0.4 percentage point)
จับตา 4 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบธุรกิจท่องเที่ยวไทย
สำหรับในปี 2564 EIC มองว่าธุรกิจท่องเที่ยวไทยยังมีความท้าทายที่ยังต้องเผชิญจาก 4 ปัจจัย ดังต่อไปนี้
1.ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
EIC ประเมินว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะได้รับวัคซีนเป็นวงกว้างและเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ขณะที่ไทยน่าจะมีการเริ่มฉีดในช่วงกลางปีหน้า และจะเข้าสู่ภาวะคุ้มกันหมู่ได้ภายในครึ่งแรกของปี 2565 โดยประเด็นการได้รับวัคซีนนี้จะมีผลต่อการเดินทางเข้ามายังไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการตัดสินใจเปิดประเทศของบ้านเรา
2.กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวที่ซบเซา
ผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จึงทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ดังนั้นมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการประคับประคองการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวไปอีกระยะหนึ่ง การขยายระยะเวลาของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” หรือการออกแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวใหม่ ๆ จึงมีส่วนสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวในช่วงต้นปีหน้า
3.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนักท่องเที่ยว
พฤติกรรมนักท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก รวมถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดตามสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น การระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยที่เพิ่มมากขึ้น การหลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัด การมองหาโปรโมชันที่จูงใจ คุ้มค่ากับราคาในภาวะที่กำลังซื้อมีจำกัด
4.การแข่งขันในธุรกิจท่องเที่ยวที่ดุเดือด
แม้ว่าตลาดจะเท่าเดิม แต่ผู้ประกอบการมักสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด ทั้งในด้านการลดราคาและการนำเสนอโปรโมชันจูงใจต่าง ๆ ที่น่าจะยังมีอยู่ต่อไปในภาวะที่อุปสงค์การเข้าพักต่ำลงจากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ