“บสย. SMEs ไทยสู้ภัย COVID-19” ค้ำประกันสินเชื่อ 1 แสนล้าน 6 โปรเจกต์


เปิดแคมเปญ 6 โครงการ “บสย. SMEs ไทยสู้ภัย COVID-19” ลุยค้ำประกันสินเชื่อพยุงกลุ่มเปราะบาง-SMEs วงเงิน 1 แสนล้านบาท

ระลอกใหม่ของการระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยนับตั้งแต่ต้นปี 2564 แม้ว่าจะทำให้หลายคนต้องกังวลเกี่ยวกับการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ การหารายได้ แต่อีกด้านมันก็ทำให้เรารู้ถึงการเตรียมตัว และวางแผนก่อนที่ปัญหาจะตามมา ด้วยว่าการระบาดครั้งใหญ่เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา หลายฝ่ายหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาให้กับสังคม เริ่มมีประสบการณ์ในการรับมือกันไว้แล้ว

แต่หากลงลึกถึงผลกระทบที่มาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ “เงินทุน” ที่กลุ่มผู้ประกอบการในไทยทั้งรายเล็ก รายใหญ่ รวมไปถึงกลุ่มพ่อค้าแม่ขายทั่วไปต่างพากันกังวลอย่างมาก เพราะหากการลุกลามของโควิด-19 มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมีผลกระทบต่อธุรกิจ การค้าขายของพวกเขาเอง

การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สำคัญ โดยมีการค้ำประกันสินเชื่ออย่างเหมาะสมและถูกต้องเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงนับเป็นเรื่องสำคัญที่แผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำเสนอต่อกลุ่มเป้าหมาย เพื่อช่วยให้พวกเขาก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ไปให้ได้

จากประเด็นข้างต้น การขยับของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จึงน่าสนใจทีเดียว โดยล่าสุดมีการออกแคมเปญ “บสย. SMEs ไทยสู้ภัย COVID-19”เพื่อเป้าหมายคือการค้ำประกันสินเชื่อให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นทั้งกลุ่มเปราะบาง และผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป ที่มีถึง 6 โครงการค้ำประกันสินเชื่อในวงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งจับมือกับสถานบันการเงินที่พร้อมจะปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่ต้องการเงินทุนไปต่อยอดและพยุงธุรกิจ

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สะท้อนว่า ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม บสย. ได้เร่งดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยล่าสุด บสย. เปิดตัว 6 โครงการค้ำประกันสินเชื่อร่วมกับธนาคารพันธมิตรช่วยเหลือเร่งด่วน จัดสรรวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 100,000 ล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบการเปราะบางและผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป ได้แก่

กลุ่มผู้ประกอบการเปราะบาง สู้ภัย COVID-19 จำนวน 2 โครงการ คือ

1.โครงการ “บสย. SMEs ไทยสู้ภัยโควิด” ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี วงเงินค้ำประกันสินเชื่อรายละ 2 แสนบาท – 20 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี วงเงินจัดสรร 5,000 ล้านบาท * MAX CLAIM สูงสุด 35%

2.โครงการ “บสย. รายย่อยไทยสู้ภัยโควิด” ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปี วงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อราย 1 หมื่นบาท – 1 แสนบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี วงเงินจัดสรร 5,000 ล้านบาท * MAX CLAIM สูงสุด 40%

ทั้ง 2 โครงการถือเป็นโครงการเร่งด่วนที่จะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ตามประกาศพื้นที่เสี่ยงของ ศบค.

กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป จำนวน 4 โครงการ ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี ระยะเวลาค้ำประกันสินเชื่อ 10 ปี คือ

1.โครงการ “บสย. SMEs ดีแน่นอน” วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 2 แสนบาท -100 ล้านบาท วงเงินจัดสรร 20,000 ล้านบาท

2. โครงการ “บสย. SMEs บัญชีเดียว” วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 2 แสนบาท -100 ล้านบาท วงเงินจัดสรร 5,000 ล้านบาท

3. โครงการ “บสย. SMEs ที่ได้รับสินเชื่อหนังสือค้ำประกัน (LG)” วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 2 แสนบาท – 100 ล้านบาท วงเงินจัดสรร 2,000 ล้านบาท

4. โครงการ “บสย. รายย่อย ทั่วไป” วงเงินค้ำประกันต่อราย ตั้งแต่ 1 หมื่นบาท – 5 แสนบาท วงเงินจัดสรร 3,000 ล้านบาท

ดร.รักษ์ อธิบายถึงโปรเจกค์ของ บสย.ทั้ง 6 โครงการว่า บสย.จะรับความเสี่ยง ตั้งแต่ 20-40% และยังได้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข การรับความเสี่ยงระหว่าง บสย. กับ ธนาคาร เช่น เกณฑ์การเคลม โดยกำหนดสัดส่วนการรับความเสี่ยงแบบร่วมกัน Sharing ระหว่าง บสย. และธนาคาร ในสัดส่วน 70% : 30% กรณีที่ธนาคารยื่นเคลมก่อนระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยดูแลลูกหนี้ในด้านต่างๆ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ จัดหนี้ หรือปรับปรุงเงื่อนไขให้ยืดหยุ่น เพื่อช่วยลูกหนี้ให้ไปรอด และมีกระแสเงินสดเพียงพอ

 

 

นอกจากนี้ ในส่วนการดำเนินงานโครงการ “บสย. SMEs รายย่อยทั่วไป” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน ต้องพึ่งเงินทุนนอกระบบ จากการที่ธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งในส่วนนี้ บสย. มีนโยบายส่งเสริมให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้ SMEs ลดการใช้เงินกู้นอกระบบ

โดย บสย. ได้ขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย เป็น 500,000 บาทต่อราย และ รับความเสี่ยงค้ำประกันสินเชื่อเต็มจำนวน 100% เพื่อให้ บสย. เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการค้ำประกันสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ บสย. ยังได้ร่วมค้ำประกันสินเชื่อในโครงการ Soft Loan Plus ของธนาคารแห่งประเทศไทย วงเงิน 55,000 ล้านบาท และโครงการ บสย. SMEs ไทยชนะ วงเงิน 5,000 ล้านบาท

ด้านสถาบันการเงินให้ความสนใจร่วมลงนามพร้อมปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ทั้งกลุ่มเปราะบางและกลุ่ม SMEs ทั่วไป ประกอบด้วย

โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. SMEs สร้างชาติ” (PGS9) จำนวน 7 ธนาคาร ได้แก่ 1. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 2. ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) 3. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 4. ธนาคารออมสิน 5. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 6. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 7. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. Micro ต้องชนะ” (Micro 4) จำนวน 7 ธนาคาร และ 1 ลิซซิ่ง ได้แก่ 1. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 2. ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) 3.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 4.ธนาคารออมสิน 5.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 6. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 7.ธนาคารทิสโก้ 8.บริษัท ไฮเวย์ จำกัด

“บสย. และสถาบันการเงินพันธมิตรมีความห่วงใยและอยากช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่ จึงเร่งจัดสรรวงเงินค้ำประกันสินเชื่อให้ครอบคลุมมากที่สุดโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไปก็มีความต้องการ ยืด ลด หด และ ขยายหนี้ (DR) และมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) ต้องการเติมเงินทุนใหม่ เพื่อพยุงธุรกิจ และต้องการหลุดพ้นปัญหาหนี้นอกระบบ โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอรับบริการการค้ำประกันสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” ดร.รักษ์ กล่าว

ดร.รักษ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ที่ผ่านมา บสย. ได้เร่งดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยนำโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ได้รับความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติ รวม 175,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา จำนวน 2 โครงการ ได้แก่

1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. SMEs สร้างชาติ” (PGS 9) วงเงิน 150,000 ล้านบาท แบ่งวงเงินค้ำประกันออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 วงเงิน 1 แสนล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป ทั้งรูปแบบนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ส่วนที่ 2 วงเงิน 50,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. Micro ต้องชนะ” (Micro 4) วงเงิน 25,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย อาทิ พ่อค้าแม่ค้า แผงลอย ผู้ประกอบการธุรกิจฐานราก และกลุ่มอาชีพอิสระ มาจัดสรรวงเงินให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่แพร่ระบาดระลอกใหม่