สิ่งที่ยากที่สุดในการทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอาจเป็นเรื่องการทำตลาด การดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการ แต่สำหรับสิ่งที่ปวดหัวที่สุดตลอดกาลก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของพนักงานในองค์กร ซึ่งในยุคสมัยนี้ความปวดหัวก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะมีพนักงานหลากหลาย Generation เข้ามาให้คุณต้องบริหารจัดการกันต่อไป
จากในอดีตคุณสามารถออกแบบนโยบายบริษัทแบบเดียวเพื่อควบคุมดูแลพนักงานได้ แต่ในปัจจุบันกฎข้อบังคับที่ตายตัวเป็นเส้นตรงแบบนั้นมีแต่จะทำให้คนใน Gen อื่นอึดอัดและไม่อยากทำงานร่วมกับคุณ
เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และหาจุดกึ่งกลางระหว่างความต้องการของแต่ละ Gen จึงเป็นหน้าที่ของคุณในฐานะผู้ประกอบการ
เรียนรู้ความแตกต่างของแต่ละ Gen
ในปัจจุบันมี Gen ที่อยู่ในวัยทำงานทั้งสิ้นประมาณ 3 Gen ด้วยกัน คือ Baby Boomer, X และ Y ซึ่งความแตกต่างกันก็คือ
Baby Boomer (พ.ศ. 2489–2507)
เป็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่อยู่ในยุคสร้างตัว เริ่มต้นจากศูนย์ ไม่มีอะไรเลย และสร้างทุกอย่างด้วยตัวเอง เป็นคนมีความอดทนสูง มานะ บากบั่น พยายามมากกว่าคนยุคปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จจะอยู่ในรุ่นนี้กันทั้งสิ้น
Generation X (พ.ศ. 2508-2522)
เป็นยุคของคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้ามาสู่ความเจริญ ต้องเจอการเปลี่ยนแปลงมากมาย ถูกสอนให้รู้จักการประหยัด อดออม เน้นเรียนหนังสือเพื่อความสำเร็จในชีวิต คิดว่างานราชการคือสิ่งที่ดีที่สุด
Generation Y (พ.ศ. 2523–2540)
สุดท้ายคือยุค Millennials ยุคของคนรุ่นใหม่ที่โตมาท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง แตกต่างจากรุ่นปู่ รุ่นพ่อไปอย่างมาก พบเจอกับความผันผวนด้านการศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง และการทำงาน ทำให้มีภูมิต้านทานในการเปลี่ยนแปลงและกลมกลืนกับทุกอย่างได้ดี
มองที่ข้อดีว่าแต่ละ Gen เป็นคนแบบไหน
แน่นอนว่าการที่สภาพแวดล้อมของการใช้ชีวิตนั้นต่างกันทำให้คนแต่ละ Gen ก็มีจุดแข็งจุดอ่อนที่ต่างกันไปด้วย ซึ่งคน Baby Boomer ก็จะชอบการทำงานแบบองค์กร ชอบเข้างาน 8 โมง เลิกงาน 5 โมง เพราะรู้สึกจริงจัง ซีเรียส และเป็นระบบ แตกต่างกับ Gen X นิดหน่อยตรงที่จะไม่ได้ชอบอะไรที่เป็นทางการมากมาย แต่ก็ให้ความสำคัญกับงานที่ทำไม่แพ้กัน ส่วน Gen Y ก็จะมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก กล้าเสี่ยง ชอบทำอะไรใหม่ๆ พร้อมปรับปรุงพัฒนาอยู่ตลอดเวลา การเข้าใจและมองเห็นข้อดีของคนแต่ละ Gen จะทำให้คุณควบคุมเขาได้ง่ายขึ้น
ปรับองค์กรให้เกิดความยืดหยุ่นสูงสุด
เมื่อคุณมีบุคลากรหลากหลาย Gen อยู่ในองค์กร คุณเองก็ต้องตอบสนองความต้องการที่มันหลากหลายมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้องค์กรคุณต้องมีความยืดหยุ่น ทั้งในเรื่องการเลื่อนขั้น การปรับรูปแบบการทำงาน พร้อมทั้งสวัสดิการที่จะมอบให้ รวมถึงอัตราการขึ้นเงินเดือนให้ตรงกับความต้องการของทุกคนในจุดกึ่งกลางที่บาลานซ์อย่างพอดี เช่น มองที่ผลงานมากกว่ามองที่อายุงาน หรือมองที่ประโยชน์ของตัวบุคคลมากกว่าตำแหน่งงานที่เขาทำ เป็นต้น
ปรับเปลี่ยนเวลาเข้างานให้แตกต่างกัน
หลายองค์กรเริ่มที่จะพัฒนาเวลาเข้างานให้แตกต่างกันออกไปตามความต้องการของแต่ละบุคคล โดยกำหนดให้แต่ละแผนกลงความเห็นกันว่าจะเข้างานตอนกี่โมง เลิกงานตอนกี่โมง เพราะหลายๆ ครั้งการทำงานแบบเข้างานพร้อมกันก็ไม่ได้ช่วยให้องค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น กราฟิกที่ต้องการทำงานดึก สมองแล่นช่วงกลางคืน ก็อาจจะอยากเข้างานสายหน่อย เลิกงานดึกหน่อย หนีรถติด และทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น การให้ทุกคนได้ลงความเห็นและเลือกเวลาที่ตัวเองต้องการจึงจะส่งผลดีต่อตัวพวกเขาเองมากกว่า
สร้างความเข้าใจให้ทุก Gen เห็นตรงกัน
สุดท้ายแล้วถ้าขาดซึ่งความเข้าใจก็จะทำให้องค์กรที่มีคนหลากหลาย Gen ไปด้วยกันได้ยาก เพราะอย่างเช่นการทำงาน Baby Boomer อาจจะมองว่า Gen Y เอาแต่เล่นโทรศัพท์มือถือ ไม่ยอมทำงาน ทั้งๆ ที่ Gen Y เองก็มองว่า การทำงานให้ดีตรงเป้าไม่จำเป็นต้องทำให้คนอื่นเห็น แต่ขอแค่งานเสร็จตรงเวลาเท่านั้นพอ ส่วนนอกนั้นจะเล่นมือถือ หรือเล่นในเวลางานมากแค่ไหนก็ได้
ตรงนี้เองที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น คุณจึงต้องปรับทัศนคติให้เขาเห็นและเข้าใจตรงกันว่าพฤติกรรมของแต่ละ Gen เป็นคนแบบไหน การโฟกัสกับการทำงานของพวกเขาต่างกันอย่างไร บอกให้รู้ว่าแต่ละ Gen มีข้อดีในตัวเอง เพื่อให้ลดความคิดต่อต้าน และทำให้เขาเข้าใจในพฤติกรรมของคนในองค์กรที่ต่างวัยกันมากขึ้น