พาไปสร้างแรงบันดาลใจกับธุรกิจเกษตร ที่กล้าปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ จนกลายเป็นธุรกิจหลักที่รายได้มั่นคง พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นจากที่เคยเป็น กับอัครเดชฟาร์ม บ่ออนุบาลปลาทับทิม จังหวัดอ่างทอง โดยมี ธ.ก.ส. คอยเคียงข้างให้คำแนะนำปรึกษา และสนับสนุนเงินทุนดุจมิตรแท้เกษตรกร
คุณสุธิดา วงศ์แก้ว เจ้าของอัครเดชฟาร์ม เล่าว่า อัครเดชฟาร์มคือบ่ออนุบาลปลาทับทิม ลักษณะการทำธุรกิจจะเป็นการซื้อลูกพันธุ์ปลาไซส์ใบมะขามมาอนุบาลในบ่อดินประมาณ 2 เดือน แล้วส่งขายให้กับลูกค้าเพื่อนำไปเลี้ยงต่อในกระชังปลา เดิมครอบครัวประกอบอาชีพทำนา ทำไร่อ้อยตั้งแต่จำความได้ ปัญหาที่เจอเป็นประจำทุกปีก็คือน้ำแล้ง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่ค่อยดี รายได้น้อย จึงเป็นหนี้สิน ทำให้ต้องการเปลี่ยนแปลงอาชีพ
“ตอนนั้นเราก็คิดว่าอยู่ไปแบบนี้มันก็เหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราอยากเปลี่ยน อยากมีรายได้เพิ่มขึ้น มาวันหนึ่ง มีพี่ชายคนหนึ่งเข้ามาในหมู่บ้าน เขามาหาที่เพาะเลี้ยงอนุบาลพันธุ์ปลาทับทิมค่ะ เขาก็ชวนว่ามาอนุบาลปลากับพี่ไหม เลี้ยงปลาให้พี่ 2 เดือน เดี๋ยวพี่จะจับขายให้ เมื่อเห็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงอาชีพและเพิ่มรายได้ จึงตัดสินใจคว้าโอกาสนี้ไว้”
หลังจากที่ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพ จึงหยุดการทำนา แล้วก็เอาแปลงนาที่มีอยู่ ขุดบ่อเลี้ยงปลา 1 บ่อ และไปซื้อลูกพันธุ์ปลาทับทิมห้าหมื่นตัวเพื่อนำมามาเลี้ยง วิธีการเลี้ยงก็ศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง ผ่านไป 2 เดือน ก็ขายลูกพันธุ์ปลาได้จริงมีรายได้ดีขึ้น โดยก่อนนั้นรายได้ต่อพื้นที่ทำนา 1 ไร่ ในระยะเวลา 4 เดือน จะทำกำไรอยู่ที่ราวหนึ่งถึงสองพันบาท แต่หลังจากมาอนุบาลปลาทับทิมเพียง 2 เดือน ก็ทำกำไรสูงกว่าสี่หมื่นบาท
“ดีใจค่ะ ไม่เคยได้เงินเยอะขนาดนั้น (คุณสุธิดาเล่าพร้อมกับหัวเราะ) ในการขุดบ่อครั้งแรก หนูไม่มีเงินทุน หนูก็ไปปรึกษาพี่ ธ.ก.ส. สาขาโพธิ์ทอง ว่าหนูต้องการเงินทุนสักก้อนหนึ่ง มาขุดบ่อเลี้ยงปลา มาอนุบาลปลาทับทิม พี่เขาก็บอกว่าเรามีสินเชื่อให้ ก็ได้เงินทุนมาก้อนหนึ่ง ระหว่างที่ทำบ่อแรกเสร็จแล้ว ก็มีลูกค้ามาติดต่อซื้อปลาเยอะเลยค่ะ หนูก็เลยต้องเริ่มทำบ่อที่ 2 ขยายกิจการอีก จากตอนนั้นมี 2 บ่อ ตอนนี้หนูมีถึง 7 บ่อแล้วค่ะ”
คุณชัยวัฒน์ กาฬภักดี หัวหน้าหน่วย ธ.ก.ส. สาขาโพธิ์ทอง จ.อ่างทอง เล่าว่า ด้วยธรรมชาติของเกษตรกรจะกลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่ค่อยอยากเปลี่ยนแปลงอาชีพที่ทำมานาน แต่คุณสุธิดาเป็นคนรุ่นใหม่ที่กล้าจะเปลี่ยนแปลง ตัดสินใจจะเปลี่ยนแล้วก็ลงมือทำ ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี สำหรับเกษตรกรที่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ ธ.ก.ส. ก็มีองค์ความรู้ และมีสินเชื่อหลากหลายพร้อมส่งเสริม ลูกค้าที่มีความต้องการก็สามารถเข้ามาปรึกษาได้ เราพร้อมให้บริการเสมอ
ปัญหาต่อมาของอัครเดชฟาร์มคือเรื่องน้ำแล้ง จึงขุดบ่อบาดาลขึ้นมา และใช้เวลาสูบน้ำ 3 – 4 วัน ถึงจะเต็มบ่อ แต่เนื่องจากเครื่องยนต์ที่สูบน้ำแรงไม่พอ ทำให้ต้องการซับเมอร์ส (ปั๊มจุ่ม) ที่ต้องใช้ไฟ หรือแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งทาง ธ.ก.ส. เข้ามาแนะนำเกษตรกรในหมู่บ้าน และขณะนั้นก็มีโครงการแผงโซลาร์เซลล์สูบน้ำ ไม่มีดอกเบี้ย 2 ปี จึงตอบโจทย์ปัญหาที่อัครเดชฟาร์มต้องการได้
คุณพิทยา จันทราสา พนักงานพัฒนาลูกค้า สำนักงาน ธ.ก.ส. จ.อ่างทอง เล่าว่า ธ.ก.ส. เราทำงานเชิงรุก ลงพื้นที่เข้าไปในหมู่บ้านไปถามปัญหาของเกษตรกรถึงที่ ว่าเขามีปัญหาอะไร ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง ซึ่งภูมิภาคนี้น้ำแล้งมาติดๆ กันมากว่า 2 ปี เราเห็นเขาใช้เทคโนโลยีเก่าอย่างการใช้เครื่องยนต์ในการสูบน้ำบาดาลขึ้นมา ซึ่งมีต้นทุนค่าน้ำมัน และโอกาสเสี่ยงสูง ธ.ก.ส. จึงนำเสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำโดยใช้โซลาร์เซลล์สูบน้ำให้ทางอัครเดชฟาร์ม
ผลลัพธ์ที่ได้จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สูบน้ำ คือเรื่องการลดต้นทุน ได้คุณภาพน้ำที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องปรับสภาพน้ำอะไรเลย การทำงานก็เพียงแต่ยกสับคัทเอาท์เท่านั้น ทำให้มีเวลาเหลือไปทำเรื่องอื่นๆ ไม่ต้องมามัวเฝ้าเครื่องสูบน้ำอย่างสมัยก่อน คุณสุธิดาเป็นคนรุ่นใหม่ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจแล้วก็ทำเลย อย่างระบบสูบน้ำบาดาล อัครเดชฟาร์มก็เป็นรายแรกในโซนนี้ที่กล้าเปลี่ยนมาใช้แผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนอื่นๆ ด้วย
ผ่านมาถึงวันนี้ คุณสุธิดาบอกว่า เธอภูมิใจมากที่กล้าเปลี่ยนอาชีพ พร้อมขอบคุณ ธ.ก.ส. ที่ให้โอกาส คอยเป็นพี่เลี้ยงที่ช่วยดูแลเกษตรกรทุกคนในหมู่บ้าน จากคนไม่มีอะไรเลย ถ้าไม่มี ธ.ก.ส. ก็จะไม่มีเธอในวันนี้ เพียงเดินเข้าไปปรึกษา ธ.ก.ส. ก็จะมีคำแนะนำและหาสิ่งดีๆ กลับมาให้โดยตลอด
“ตอนนั้น เรานึกอยากจะเปลี่ยนแปลงอาชีพ ที่ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงมันเป็นความท้าทาย เปิดโลกให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หนูเชื่อว่าถ้าเราไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง วันหนึ่งหนูก็ว่าตัวเองจะต้องประสบความสำเร็จค่ะ”
ธ.ก.ส. ยกระดับชีวิตเกษตรกรไทย สู่สังคมที่ภาคภูมิ
https://www.baac.or.th/
Call Center 02-555-0555