สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ชี้แม้ว่าปี 2563 สตาร์ทอัพไทยเติบโตลดลงจากปี 2562 แต่ยังคงมีกลุ่มที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ และมีแนวทางในการปรับรูปแบบธุรกิจได้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้อย่างน่าสนใจ อาทิ การร่วมมือจับคู่สร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการระหว่างสตาร์ทอัพและธุรกิจขนาดใหญ่ การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจาก B2B ไปสู่ B2C
นอกจากนี้ ภายใต้ภาวะวิกฤตดังกล่าว ยังส่งผลให้มีการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านการศึกษา หรือ EdTech เนื่องด้วยอานิสงส์จากการเรียนออนไลน์ของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและกลุ่มวัยทำงาน รวมถึงสตาร์ทอัพในสาขาเกษตรกรรม หรือ AgTech เนื่องด้วยความต้องการบริโภคอาหารและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ NIA ยังได้วางแนวทางการส่งเสริมสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยด้วยหลากหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็น โครงการ STEAM4INNOVATOR โครงการ Startup Thailand League ตลอดจนการส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำสตาร์ทอัพ เช่น พื้นที่ทดลองการทำธุรกิจ รวมถึงการส่งเสริมแนวคิดมหาวิทยาลัยสตาร์ทอัพให้กับสถาบันอุดมศึกษาพันธมิตร
นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มการท่องเที่ยว (Travel Tech) กลุ่มธุรกิจการจัดอีเว้นท์และกิจกรรม รวมถึงธุรกิจในภาคบริการ (Hospitality) ซึ่งส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบมักมีปัญหาจากการขาดสภาพคล่องทางการเงิน การชะลอตัวการลงทุนจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ – นักลงทุน รวมถึงแผนทางธุรกิจที่ยังขาดความชัดเจน จนทำให้การผลิตสินค้าหรือการให้บริการต้องหยุดชะงัก และไม่สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้
โดยปัญหาการระบาดของโรคโควิด – 19 ตลอดปีที่ผ่านมา ยังทำให้เห็นจำนวนการเติบโตที่ลดลงของสตาร์ทอัพหลากหลายประเภทเมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งสถานการณ์นี้ส่งผลต่อทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และยังทำให้โอกาสในการก้าวสู่ระดับที่สูงขึ้นของสตาร์ทอัพบางส่วนต้องหยุดชะงัก หรือช้าลง ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นอีกประเด็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวของต้องดูแลเพิ่มมากขึ้น
“แม้ปริมาณสตาร์ทอัพในประเทศไทยจะมีจำนวนที่ลดลง แต่ยังคงมีบริษัทสตาร์ทอัพที่สามารถอยู่รอดมาได้ เพราะมีแนวทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น การหันมาให้ความสำคัญกับระบบเดลิเวอรี่มากขึ้น การร่วมมือหรือจับคู่สร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการระหว่างสตาร์ทอัพและธุรกิจขนาดใหญ่ และการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากเดิมที่เป็น B2B สู่ B2C นอกจากนี้ ยังได้เห็นการปรับตัวในด้านการเตรียมความพร้อมทางธุรกิจที่มากขึ้น เช่น การเข้าไปปรึกษาเพื่อการวางแผนตลาดและการฟื้นฟูธุรกิจ พัฒนากระบวนการคิดที่มีความเป็นสากล เนื่องจากได้เห็นภาพรวมตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงการเข้าร่วมคอร์สต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อนำไปปรับใช้ได้ทันทีหากกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”
นายปริวรรต กล่าวเพิ่มเติมว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลให้บริษัทสตาร์ทอัพเติบโตช้าลงเพียงอย่างเดียว เพราะจากการติดตามการดำเนินงานของธุรกิจประเภทนี้พบว่าในบางสาย เช่น สตาร์ทอัพด้านการศึกษา (EdTech) กลับมีแนวโน้มการเติบโตมากกว่าเท่าตัว โดยได้รับอานิสงส์มาจากการเรียนออนไลน์ในระดับชั้นต่าง ๆ ทั้งที่พัฒนาเพื่อสถานศึกษา เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ และกลุ่มที่พัฒนาเพื่อทบทวนความรู้หลังเลิกเรียนและวันหยุด (เรียนพิเศษ) เป็นผลให้มีหลากหลายผู้เล่นสนใจ และเตรียมพัฒนานวัตกรรมประเภทนี้กันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดแพลตฟอร์มดังกล่าวไปสู่องค์กรและกลุ่มวัยทำงานที่ต้องการเรียนรู้เทคนิคและกลยุทธ์เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงานเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่เดิมที่หลากหลายองค์กรมีการจัดสอน ฝึกอบรม ได้เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบออนไลน์และมีเครื่องมือต่าง ๆ เช่น แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ที่ช่วยรองรับกิจกรรมนี้กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นตัวแปรให้เกิดกลุ่มผู้ใช้และจำนวนตลาดที่เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
นอกเหนือจากสตาร์ทอัพด้านการศึกษา อีกธุรกิจที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นคือสตาร์ทอัพในสาขาเกษตรกรรม หรือ AgTech เนื่องจากความต้องการบริโภคอาหารและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ การบริโภคโปรตีนจากพืช ผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถเก็บไว้ได้นาน พร้อมด้วยสตาร์ทอัพที่พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาของเกษตรกร ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวในทิศทางที่ดีขึ้น
สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีทั้งการลงทุนจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ แพลตฟอร์มและโซลูชั่นที่ช่วยในด้านการลดต้นทุน การเพิ่มมูลค่าทางการตลาด การขนส่งสินค้า รวมถึงการปรับปรุงพันธุ์พืช ทั้งนี้ คาดว่าสตาร์ทอัพกลุ่มนี้จะยังคงเติบโตในปีนี้ได้อย่างต่อเนื่องทั้งในด้านปริมาณผู้ดำเนินธุรกิจ และการสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป