นักศึกษาไอเดียเจ๋งนำกากกาแฟมาปั้นดินเผาเกิดนวัตกรรม “ปลูกต้นไม้-บำบัดน้ำเสีย-ลดขยะ”


ใครจะไปคิดว่า “กากกาแฟ” ที่เหลือจากการทำเครื่องดื่มจะสามารถนำกลับมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมได้ และช่วยทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นกว่าเดิม

สำหรับไอเดียสุดเจ๋งนี้ต้องยกนิ้วให้กับนางสาวพิชญา แซ่ตัน นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการ คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา สถาบัน AIT ที่นำกากกาแฟจากคาเฟ่ หรือ คอฟฟี่ช็อป มาผสมกับดินลูกรัง, ดินเบนโทไนท์ และซีโอไลท์ จนออกมาเป็นนวัตกรรมที่ช่วยบำบัดน้ำเสีย, ปลูกต้นไม้ และลดขยะ

โดยวัสดุที่นำมาผสมผสานนั้นต่างมีคุณสมบัติเด่นแตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้

  • ดินลูกรัง มีสีส้ม เป็นดินที่มีธาตุเหล็กสูง ช่วยกำจัดฟอสฟอรัส
  • ซีโอไลท์ มีความโดดเด่นลดความสกปรกของน้ำ
  • กากกาแฟ ช่วยดูดซับโลหะหนัก ช่วยลดน้ำหนักทำให้ดินเบาขึ้น
  • ดินเบนโทไนท์ ช่วยผสานให้ดินปั้นแล้วเกาะตัวได้ดี

เมื่อนำวัสดุทุกอย่างมาผสมกันจะได้ดินก้อนขนาดเล็ก ถูกเผาด้วยความร้อน 650 องศาเซลเซียส ทำให้มีความแข็ง ทนทาน และน้ำหนักเบา ติดตั้งได้ง่ายแม้ริมกำแพง หรือผนังอาคาร

 

 

นางสาวพิชญา เล่าถึงที่มาของไอเดียนี้ว่าเกิดจากการเริ่มต้นการคิดพัฒนาระบบน้ำเสียธรรมชาติให้เป็นพื้นที่ปลูกไม้แนวตั้งแบบติดผนัง หรือกำแพงที่สามารถบำบัดน้ำเสีย ซึ่งต้องใช้ดินที่มีน้ำหนักเบา โดยตนเห็นว่ากากกาแฟเป็นขยะที่เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จากธุรกิจคาเฟ่ที่กำลังเป็นที่นิยม จึงขอกากกาแฟซึ่งเป็นขยะออร์แกนิคที่มีประโยชน์มาจากร้านอินทนิลในสถาบัน AIT

“ทดลองร่วม 6 เดือน โดยนำเม็ดดินเผา Novel media มาเป็นวัสดุปลูกต้นไม้ในกระถาง 5 ชั้น ติดกับผนัง พร้อมติดตั้งถังสำหรับใส่น้ำเสีย และต่อสายให้น้ำไหลผ่านจากกระถางชั้นบนสุดชั้นล่างสุด ซึ่งน้ำแต่ละหยดใช้ในการไหล 36 ชั่วโมง น้ำจะค่อยๆผ่านดินเผาแต่ละกระถางที่ดักจับของเสีย” นางสาวพิชญา กล่าว

 

 

ผลการทดลองนี้ พบว่าน้ำเสียที่ไหลผ่านดินเผาช่วยลดของเสียในน้ำได้อย่างชัดเจน และได้ค่าที่ผ่านมาตรฐาน ขณะที่รากต้นไม้สามารถเติบโตได้ดีในดินเผา Novel media

 

 

นางสาวพิชญา กล่าวต่อว่า งานวิจัยใกล้เสร็จสมบูรณ์ โดยตอนนี้อยู่ในขั้นตอนรื้อต้นไม้ออกจากกระถาง เพื่อตัด และตรวจสอบว่าพืชสามารถดูดไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ไปได้เท่าไหร่ ซึ่งในส่วนของเม็ดดินก็จะบดแล้วตรวจว่าดูดสารพิษ และของเสียไปได้เท่าไหร่ เพราะในน้ำเสียมีธาตุอาหารสูง เป็นธาตุอาหารแบบเดียวกับในปุ๋ย จึงเหมือนเป็นการนำปุ๋ยจากน้ำเสียมาใส่ต้นไม้