“จุรินทร์” จัดทัพลุยจีน เน้นไห่หนานเป็นสะพานเชื่อมเศรษฐกิจ หลังจีนฟื้นตัวจากโควิด “สั่งงาน” พาณิชย์ จับมือ สมาคมการค้าไทย-ไห่หนาน เดินหน้า ชี้ เศรษฐกิจมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่อง
กระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสมาคมการค้าไทย-ไห่หนาน จัดกิจกรรมการบุกตลาดจีน “พาณิชย์บุกตลาดจีน เชื่อมโยงตลาดศักยภาพ (ไทย-ไห่หนาน)” ภายใต้โครงการผลักดันการค้าระหว่างประเทศพันธมิตร (Strategic Partnership) ในตลาดจีน วันพุธที่ 31 มีนาคม 2564 โดยมี
นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถา หัวข้อ “นโยบายการค้าสู่ตลาดจีน ในยุค New Normal” ในงานกิจกรรม “พาณิชย์บุกตลาดจีน เชื่อมโยงตลาดศักยภาพ (ไทย-ไห่หนาน)” ระบุว่าสำหรับมินิเอฟทีเอระหว่างไทยกับมณฑลไห่หนานหรือไหหลำของจีน มีการดำเนินการตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบรายละเอียดระหว่างไทยกับจีน
สำหรับฝ่ายไทยนั้นเสร็จสิ้นแล้ว รอฝ่ายจีนซึ่งต้องมีกระบวนการตรวจสอบรายละเอียดในระดับประเทศและระดับมณฑลคาดว่าปลายเดือนเมษายนนี้จะมีการลงนามได้ ถือเป็นประวัติศาสตร์ทางการค้าหรือประเทศที่เรามีมินิเอฟทีเอเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกคาดว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไหหลำมากขึ้น
รมว.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า ปีที่ผ่านมามีมูลค่าการค้าไทยส่งออกไปไหหลำประมาณ 7,000 ล้านบาท เชื่อว่าตัวเลขจะมากขึ้นเพราะไหหลำจะได้รับการพัฒนาเป็นฟรีพอร์ต เป็นฮ่องกง 2 ถือเป็นโอกาสดีที่สุด มีการสนับสนุนจากภาคเอกชนทั้งสมาคมการค้าไทยไหหลำก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มูลค่าการค้าปีที่แล้วระหว่างไทยกับจีน บวก 4.4% คาดว่าปี 64 จะมากกว่านั้น เพราะเศรษฐกิจจีนถือว่าฟื้นตัวเร็วที่สุดในโลก และไทยมีความสำคัญทางการค้าที่ดีกับจีน ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของไทยต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 8
“นอกจากไทย-ไห่หนาน แล้ว จะยังมีมินิเอฟทีเอ ไทยกับรัฐเตลังกานา ของอินเดีย รัฐนี้เป็นเมืองเฟอร์นิเจอร์ เป็นโอกาสทองของการส่งออกไม้ยางไทยที่จะนำไปทำเฟอร์นิเจอร์หรือส่งออกไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูป และยังมีเมืองไทฟูของญี่ปุ่นที่เป็นเมืองอัญมณี หวังว่าจะช่วยให้การส่งอัญมณีเครื่องประดับของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น และเมืองคย็องกีของเกาหลี ซึ่งมีกลุ่มชาวเอเชียอยู่จำนวนมากหวังว่าจะช่วยเพิ่มตัวเลขการส่งออกอาหารด้วย
เชื่อว่าปีนี้น่าจะจบได้ทั้งหมด คิดว่าเอฟทีเอในภาพรวมอย่างเดียวไม่พอ เราต้องลงลึกในระดับมณฑลในระดับรัฐต่อรัฐ โดยเฉพาะในประเทศที่มีรัฐขนาดใหญ่ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 3.5%-4% และมีความเป็นได้เป็นไปได้ที่จะถึงเป้าหรือเกินเป้าถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วและวัคซีนกระจายไปได้เร็วทั้งโลกในภาพรวม” นายจุรินทร์ กล่าว
ขณะที่รายงานข่าว กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุด้วยว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งรัดการสร้างความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการเจรจารายมณฑล/รัฐ/เมือง กับประเทศพันธมิตรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ทั้งอินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่มีแผนความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกัน รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้าเพื่อขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร (Joint Economic and Trade Committee : JETCO)
จีนในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมาตลอด 8 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 (ค.ศ. 2013) ประกอบกับนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมของจีนที่จะเสริมสร้างศักยภาพให้แต่ละมณฑลมีความแข็งแกร่ง โดยใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของแต่ละมณฑล โดยเฉพาะในเชิงภูมิศาสตร์
ทั้งนี้ “ไห่หนาน” เป็นมณฑลที่เล็กที่สุด ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area : GBA) และเชื่อมโยงมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงภูมิภาคตามเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) ปัจจุบัน ไห่หนานได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่งในการพัฒนาให้ก้าวสู่เขตการค้าเสรีระดับโลกในปี 2593 ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นระหว่างไทยกับมณฑลไห่หนานจะเป็นโอกาสในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย
สำหรับโอกาสของสินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดไห่หนาน ได้แก่ สินค้าเกษตร/ เกษตรแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยางพารา อาหารสำเร็จรูป ของใช้ตกแต่งบ้าน สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม ตลอดจนธุรกิจบริการด้านการเงิน เป็นต้น
การค้าระหว่างไทย–จีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.21 ของการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยปี 2563 ไทย–จีน มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 2.5 ล้านล้านบาท (79,606 ล้านเหรียญสหรัฐ) ไทยส่งออกไปยังจีนมูลค่า 9.2 แสนล้านบาท (29,530 ล้านเหรียญสหรัฐ) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ และเคมีภัณฑ์ ในขณะที่ไทยนำเข้าจากจีนมีมูลค่ามากถึง 1.5 ล้านล้านบาท (49,852 ล้านเหรียญสหรัฐ) สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ