เอสเอ็มอี อ่วมหนัก! เผชิญอุปสรรค กำลังซื้อ-ยอดขายลด เป็นปัญหาอันดับ 1


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เผยผลสำรวจผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจทั่วประเทศ 1,494 ราย ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2564 พบผลกระทบที่ผู้ประกอบการเผชิญ อันดับ 1 ร้อยละ 84.87 กำลังซื้อของลูกค้าลดลง ส่งผลให้ยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง อันดับ 2 ร้อยละ 66.53 ประสบปัญหาด้านการตลาด อันดับ 3 ร้อยละ 63.05 ประสบปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจ ฯลฯ ทั้งยังพบว่าผู้ประกอบการมีการปรับตัวอย่างรวดเร็วทำให้กิจการเริ่มฟื้นตัว จึงเร่งพัฒนา 3 มาตรการสติ (STI) ฟื้นฟูเร่งด่วนช่วยผู้ประกอบการได้แก่ มาตรการเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน มาตรการเพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ และมาตรการเพื่อสนับสนุนด้านการตลาด เพื่อช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดีพร้อม (DIPROM) เร่งฟื้นฟูผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดเดิมของโควิด-19 ตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมอบหมายทีมกูรูดีพร้อม ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 11 ศูนย์ทั่วประเทศ สำรวจผลกระทบและความต้องการของผู้ประกอบการจำนวน 1,494 ราย ซึ่งแบ่งออกเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร้อยละ 73 และวิสาหกิจชุมชน ร้อยละ 27 พบว่า 7 อันดับผลกระทบที่ผู้ประกอบการประสบปัญหาสูงสุด คือ

· อันดับที่ 1 ร้อยละ 84.87 กำลังซื้อของลูกค้าลดลง ส่งผลให้ยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง

· อันดับที่ 2 ร้อยละ 66.53 ประสบปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากมีการแข่งขันสูงผ่านกลยุทธ์ด้านโปรโมชั่นเพื่อระบายสินค้าคงคลัง

· อันดับที่ 3 ร้อยละ 63.05 ประสบปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจ ขายเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากรายได้ลดลง เก็บเงินจากลูกค้าได้ยากขึ้น

· อันดับที่ 4 ร้อยละ 30.25 ประสบปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน มีราคาสูงขึ้น และผู้ผลิตบางรายปิดกิจการ

· อันดับที่ 5 ร้อยละ 26.57 ประสบปัญหาเกี่ยวระบบโลจิสติกส์ที่มีขั้นตอนเพิ่มมากขึ้นใช้ระยะเวลานานขึ้น และ ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น

· อันดับที่ 6 ร้อยละ 24.16 ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว

· อันดับที่ 7 ร้อยละ 18.74 ประสบปัญหาจากการผลิตไม่คุ้มทุน ลด/ชะลอ/หยุดการผลิต

ขณะที่ 7 อันดับ ผลสำรวจการปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว พบว่า

· อันดับที่ 1 ร้อยละ 71.55 ขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ขยายฐานลูกค้าไปยังหน่วยงานภาครัฐ

· อันดับที่ 2 ร้อยละ 53.75 ลดค่าใช้จ่าย ประหยัดการใช้พลังงานในสำนักงาน ลดปริมาณการจัดเก็บวัตถุดิบ และเลือกวัตถุดิบที่มีอายุเก็บรักษาได้ยาวนาน และราคาถูกลง

· อันดับที่ 3 ร้อยละ 50.47 พัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐาน ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่นปรับขนานบรรจุภัณฑ์เพื่อลดค่าขนส่ง

· อันดับที่ 4 ร้อยละ 45.65 ใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการภาคการผลิต ระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อวางแผนการผลิตที่แม่นยำ

· อันดับที่ 5 ร้อยละ 37.48 หาแหล่งเงินทุนที่ให้สินเชื่อในระยะที่สามารถยืดหยุ่นได้และมีดอกเบี้ยต่ำ

· อันดับที่ 6 ร้อยละ 32.93 ปรับลดไลน์ผลิต ลดจำนวนชั่วโมงงาน ให้พนักงาน Work From Home พัฒนาทักษะพนักงานเพิ่มเติม

· อันดับที่ 7 ร้อยละ 19.88 ปรับแผนการขนส่ง หาพันธมิตรผู้ประกอบการเพื่อแชร์ค่าบริการ และดำเนินการขนส่งเอง

นายภาสกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมการปรับตัวของผู้ประกอบการเป็นไปตามแนวทางที่ได้ส่งเสริมในปี 2563 ซึ่งถือได้มีการดำเนินงานเดินมาถูกทาง โดยเพื่อยกระดับมาตรการให้สอดรับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ดีพร้อม ได้นำข้อมูลจากผลสำรวจข้างต้น มาประกอบการวางแผนพัฒนามาตรการเร่งด่วน เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย “สติ” (STI) 3 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาทิ โครงการการเตรียมความพร้อมและเพิ่มโอกาสการขอสินเชื่อเพื่อ SMEs ในยุค New Normal โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีทักษะการบริหารการเงินที่ดี หรือ Financial Literacy ทั้งการวางแผนการบริการจัดการหนี้ การจัดการธุรกิจในภาวะวิกฤต การวางแผนด้านภาษี และโครงการส่งเสริมเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในการขอสินเชื่อ ผ่านการพัฒนาทักษะการเขียนแผนธุรกิจ สำหรับใช้ประกอบการพิจารณาขอสินเชื่อ เพิ่มโอกาสการได้รับอนุมัติสินเชื่อ และลดความเสี่ยงจากหนี้สูญ

ตลอดจนยังมี มาตรการเพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ อาทิ โครงการเพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการในการบริหารจัดการ โลจิสติกส์และโซ่อุปทานอุตสาหกรรม ทักษะการบริหารจัดการแรงงานฝ่าวิกฤตแรงงานต่างด้าว โดยส่งเสริมการใช้ระบบเทคโนโลยี AI เพื่อทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว เพื่อเพิ่มศักยภาพในภาคการผลิต สามารถคำนวนข้อจำกัดต่างๆ ทั้งยังช่วยให้เกิดการวางแผนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และสามารถหยุดและดำเนินการผลิตได้ ในกรณีที่จำเป็นโดยไม่ส่งผลกระทบต่อแรงงานบุคคล และมาตรการเพื่อสนับสนุนด้านการตลาด อาทิ โครงการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการสู่ความเป็นมืออาชีพในด้านการตลาดออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านการตลาดออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งการตลาดออนไลน์ เป็นเครื่องมือที่ ดีพร้อม ส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการแพร่ระบาด นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย