ดีพร้อม ปรับสินค้าของฝากเตรียมรองรับ “รีโอเพ่นนิ่ง” กระตุ้นการท่องเที่ยวภาคเหนือ


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้า “โครงการพัฒนาของฝากของที่ระลึกเพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในพื้นที่” ขับเคลื่อนการพัฒนาสินค้าชุมชนประเภทของฝากของที่ระลึก รองรับการท่องเที่ยวในอนาคตโดยการฝึกทักษะความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ของตนเอง การเข้าถึงความต้องการของลูกค้า การสร้างสรรค์การออกแบบผลิตภัณฑ์ ฯลฯ

โดยในระยะนำร่องได้ดำเนินการแล้วในพื้นที่จังหวัดชัยนาท และขยายผลต่อเนื่องที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าของฝากในพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ตลอดจนมีเป้าหมายที่จะขยายผลโครงการฯ ครอบคุลมพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภายในปี 2564 ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้จากสินค้าของฝากต่อปีได้ถึง 50 ล้านบาท จะก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การซื้อของที่ระลึกของนักท่องเที่ยว โดยจะมีมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างกว่า 15,000 ล้านบาท

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดีพร้อม (DIPROM) เริ่มขับเคลื่อนการพัฒนาสินค้าชุมชนประเภทของฝากของที่ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในอนาคตที่กำลังจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งผ่าน “โครงการพัฒนาของฝากของที่ระลึกเพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในพื้นที่” โดยการฝึกทักษะการเข้าใจในผลิตภัณฑ์ของตนเอง การเข้าถึงความต้องการของลูกค้า การเรียนรู้กระบวนการออกแบบเชิงบริการ ตลอดจนออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ไปต่อยอดให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเองได้

ในระยะนำร่องได้ดำเนินการแล้วในพื้นที่จังหวัดชัยนาท และขยายผลต่อเนื่องที่จังหวัดสุโขทัย สร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าของฝากในจังหวัดเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านบาท ตลอดจนมีเป้าหมายที่จะขยายผลโครงการฯ ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภายในปี 2564 เพื่อส่งเสริมให้คนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าของฝากของที่ระลึกกว่า 50 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังจะช่วยกระตุ้นมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี

สำหรับรายละเอียดการดำเนินงานที่จังหวัดสุโขทัย ดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินการส่งเสริมผ่านการถอดอัตลักษณ์วิถีถิ่นสุโขทัย ผ่านกระบวนการสร้างมาสคอตของชุมชนจากจุดเด่นที่มี และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมให้มีความทันสมัย โดยการนำผลิตภัณฑ์เดิมซึ่งเป็นงานหัตถศิลป์ที่มีความละเอียดและเข้าถึงได้ยาก มาปรับลดลายเส้นต่าง ๆ ให้มีความเรียบง่าย หรือที่เรียกว่า มินิมอลสไตล์ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของการต่อยอดและพัฒนาสินค้าชุมชนให้เกิดธุรกิจในเชิงพาณิชย์ ทั้งยังมีส่วนช่วยกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยเข้าร่วมโครงการจำนวน 20 กลุ่ม และมีเป้าหมายพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าของฝากของที่ระลึก จำนวน 20 ผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านบาทต่อปี นอกจากมิติของการกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยวแล้ว โครงการดังกล่าวยังสามารถทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 200 คน ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอคีรีมาศ อำเภอศรีสัชนาลัย และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งหากการท่องเที่ยวกลับสู่ภาวะปกติ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในพื้นที่ประมาณ 600,000 คนต่อปี ก่อให้เกิดการใช้จ่ายสินค้าและบริการเป็นมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในจังหวัดกว่า 1,800 ล้านบาท นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย