รัฐบาลอนุมัติ “โครงการสร้างรายได้ด้วยแฟรนไชส์ฝ่าโควิด-19” ฟื้นฟู SME วงเงิน 68 ล้านบา


ครม. เปิดตัว “โครงการสร้างรายได้ด้วยแฟรนไชส์ฝ่าโควิด-19” ช่วยเหลือ-สร้างอาชีพแก่คนว่างงาน ฟื้นฟูธุรกิจแฟรนไชส์ และ SME ขนาดเล็ก วงเงิน 68 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติโครงการสร้างรายได้ด้วยแฟรนไชส์ฝ่าโควิด-19 ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ วงเงิน 68 ล้านบาท โดยให้พิจารณาดำเนินการในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 น้อยก่อน และมีระยะเวลาดำเนินงาน 8 เดือน (พ.ค.- ธ.ค.64) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและสร้างอาชีพแก่คนว่างงานและคนตกงาน กระตุ้นและฟื้นฟูธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก ให้กลับมาดำเนินธุรกิจในตลาดเป็นปกติ สร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์และการขยายการลงทุนในธุรกิจให้กับ Franchisee มากขึ้น และเพิ่มช่องทางการหารายได้และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทย

โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และเพิ่มการขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ สร้างอาชีพให้แก่ประชาชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19

รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ธุรกิจแฟรนไชส์ขยายร้านสาขาแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจมีความมั่นคงเข้มแข็งและยั่งยืน เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ เกิดการสร้างอาชีพ ทำให้เกิดการจ้างงาน และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ลดอัตราการว่างงาน และธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ขยายตัวและสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศเพิ่มขึ้น

ประกอบด้วย กิจกรรมที่ 1 จัดงานแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Road Show 2021 ในภูมิภาค รวม 15 ครั้ง (15 จังหวัด) (ประมาณเดือนละ 2 จังหวัด) เป้าหมาย 100 ธุรกิจ และประสานงานการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระหว่างเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchisor) และสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์ที่มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้แก่ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchisee) ได้มีเงินลงทุนเพื่อประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น

และกิจกรรมที่ 2 จัดงาน DBD Franchise & SME Expo 2021 ส่วนกลาง 1 ครั้งเป้าหมาย 400 ธุรกิจ และประสานงานการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระหว่างเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchisor) และสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์ที่มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้แก่ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchisee) ได้มีเงินลงทุนเพื่อประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ 500 ราย จะได้นำเสนอธุรกิจเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และผู้ว่างงาน ผู้ต้องการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ และแฟรนไชส์ซีที่ได้รับผลกระทบ ได้ร่วมกิจกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ จำนวน 10,000 ราย