นิเทศฯ นิด้า เผยผลวิจัย ผู้สูงวัยในประเทศไทยแสดงความคิดเห็นว่า ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพในระดับมาก โดยมองว่าข่าวสุขภาพที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์มีความทันสมัย มีความดึงดูดใจ และมีรูปแบบการเขียนที่น่าติดตาม นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมองว่าข่าวสุขภาพที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ เป็นข่าวสุขภาพที่มีคนกดชื่นชอบเป็นจำนวนมากและมีความน่าเชื่อถือ โดยผู้สูงวัยมากกว่าร้อยละ 70 ยังคงมีความเชื่อในข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยเฉพาะในประเด็นโรคมะเร็ง และโรคโควิด
ผลงานวิจัยนี้ ทำในโครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ เก็บแบบสอบถามทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,220 คน ทั่วประเทศ กับกลุ่มตัวอย่างทุกช่วงอายุ และมีกลุ่มผู้สูงวัยไทยอายุ 60 ปีขึ้นไป 817 คน
การเปิดรับสื่อ การรู้เท่าทันสื่อข้อมูลด้านสุขภาพ และข่าวปลอม ของผู้สูงวัย
สื่อที่ผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป เปิดรับมากที่สุด ได้แก่ ไลน์ คิดเป็นร้อยละ 64.5 รองลงมาคือ เฟซบุ๊ก ร้อยละ 63.9 YouTube ร้อยละ 34.9 เว็บไซต์ ร้อยละ 34.1 และสื่อออนไลน์อื่น ๆ เช่น ทวิตเตอร์ Tiktok โดยผู้สูงอายุคิดว่า สื่อที่มีข่าวปลอมมากที่สุด ได้แก่ เฟซบุ๊ก 37.8 รองลงมาคือ ไลน์ 19.8 และโทรทัศน์ 11.5 ทั้งนี้ผู้สูงวัยประเมินระดับ การรู้เท่าทันข้อมูลด้านสุขภาพ (Health Information Literacy: HIL) ของตนเองอยู่ในระดับต่ำกว่า การประเมินระดับการรู้เท่าทันข้อมูลด้านสุขภาพของคนไทยทุกช่วงวัยโดยเฉลี่ย
พฤติกรรมของผู้สูงวัยเมื่อพบเห็นข่าวปลอมเกี่ยวกับสุขภาพ
เมื่อพบเห็นข่าวปลอมเกี่ยวกับสุขภาพ พบว่า ผู้สูงอายุ ร้อยละ 66.2 แชร์ข่าวปลอมนั้นซ้ำ โดยคิดว่า เป็นการเตือนคนใกล้ตัวที่ได้รับข้อมูลนั้น ในขณะที่ ร้อยละ 54.7 เพิกเฉย/ไม่สนใจ/เลื่อนข้ามไป และมีเพียงร้อยละ 24.5 ที่ทำการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง โดยร้อยละ 57.2 ใช้วิธีการสอบถามคนใกล้ชิด ร้อยละ 41.2 อ่านความเห็นในโพสต์ข่าว และร้อยละ 24.0 ค้นหาบทความที่คล้ายคลึงกันในเว็บไซต์
ผู้สูงวัยมากกว่าร้อยละ 70 เชื่อข่าวปลอมเกี่ยวกับสมุนไพรที่ช่วยรักษาโรคมะเร็งและโควิด-19
นอกจากนี้ยังพบว่า ข่าวปลอมต่าง ๆ ที่มีหน่วยงานภาครัฐตรวจสอบและเผยแพร่แล้วว่าเป็นข่าวปลอม หรือเป็นข้อมูลที่ยังไม่มีหลักฐานในการพิสูจน์ได้จริงนั้น ผู้สูงวัยส่วนมากก็ยังคิดว่า เป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคต่าง ๆ อาทิ หมวดข่าวปลอมที่เกี่ยวกับสรรพคุณของสมุนไพรรักษาโรค เช่น ผู้สูงวัยมากกว่าร้อยละ 70 เชื่อว่า ใบทุเรียนเทศ หนานเฉาเหว่ย ใบอังกาบหนู กัญชา และการดื่มน้ำมะนาวโซดามีสรรพคุณช่วยรักษาโรคมะเร็ง และผู้สูงวัยประมาณร้อยละ 60 เชื่อว่า น้ำกระเทียมคั้นสด น้ำมันกัญชา น้ำขิง น้ำใบมะละกอปั่น มันเทศญี่ปุ่นต้มน้ำขิง สามารถช่วยรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ได้
ทั้งนี้ ผศ.ดร.บุหงา ชัยสุวรรณ หัวหน้าโครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม และรองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ข่าวปลอมเป็นปัญหาที่สำคัญส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่เราต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด–19 การที่มีความเข้าใจ มีการรู้เท่าทันสื่อ และทักษะในการตรวจสอบข่าวปลอม จะทำให้เราสามารถผ่านวิกฤตต่าง ๆ ไปได้ด้วยกัน โครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม จึงได้ทำการวิจัยเพื่อให้ทราบถึงปัญหาข่าวปลอมในประเทศไทย และยังได้พัฒนาระบบอัจฉริยะต้นแบบเพื่อประกอบการตัดสินใจความถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร ด้านสุขภาพ (Fact Checking Intelligent Platform) เช็กให้รู้ ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบข่าวปลอมเกี่ยวกับสุขภาพโดยตรงขึ้นมา เพื่อให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการตรวจสอบข่าวปลอมด้านสุขภาพของคนไทยต่อไป
Source : https://checkhairoo.nida.ac.th/