สึนามิโควิด จากลูกแรกถึงลูกที่ 3 เอสเอ็มอี รอดได้อย่างไร


การระบาดของโควิด- 19 ระลอก 3 ในประเทศไทย ได้สร้างความเสียหายรุนแรงกว่า 2 ระลอกแรกอย่างชัดเจน ทั้งด้านชีวิตสุขภาพ และระบบเศรษฐกิจ

ที่สำคัญทุกฝ่ายยอมรับว่าการระบาดครั้งล่าสุดนี้ จะสิ้นสุดลงได้นั้น อยู่ที่การบริหารจัดการหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ แต่บรรทัดท้ายที่สุดต้องขึ้นกับการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศให้ได้ ซึ่งอาจกินระยะเวลาไปถึงกลางปี 2565

โควิดระลอกแรก เริ่มขึ้นเมื่อเดือน ม.ค. 2563 กว่าจะควบคุมได้ก็ราวกลางเดือน ธ.ค. รวมระยะเวลาราว 11 เดือน แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มระลอกที่ 2 กินระยะเวลาอีก 3 เดือน และยังไม่ทันสิ้นสุดเบ็ดเสร็จ ก็ตามติดด้วยระลอก 3 ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

สถานการณ์ระลอกที่ 3 มีตัวเลขการระบาดที่เร็วและรุนแรงกว่าทุกครั้ง ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยภายในระยะ 7 วัน ถึงวันละกว่า 2 พันคน และเสียชีวิตสูงสุด 21 คนต่อวัน (ณ วันที่ 1 พ.ค.) เนื่องจากการระบาดเป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ ที่มีความรุนแรงร้ายกาจกว่าเชื้อดั้งเดิมนั่นเอง

เศรษฐกิจร่วง-รัฐยังไร้แนวทางเยียวยา

ขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การระบาดในระลอกที่ 3 ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนซ้ำเติมจาก 2 ระลอกแรก โดยจากเดิมมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 นี้ น่าจะขยายตัวมากกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปรับลดคาดการณ์มาเหลือ 3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สถาบันการเงินทุกแห่ง ต่างคาดการณ์ว่า จีดีพีจะไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ มีบางแห่งบอกว่าไม่น่าจะถึง 2 เปอร์เซ็นต์เสียด้วยซ้ำ

เป็นที่น่าแปลกใจว่า หลังการระบาดระลอก 3 จนถึงขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มีท่าทีว่าจะมีแผนการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนอย่างไร ทั้ง ๆ ที่การระบาดทั้ง 2 ครั้งก่อนหน้า ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้นั้น มาจากการอัดฉีดเงินของภาครัฐ ซึ่งเห็นได้ชัดจากการระบาดในระลอกที่ 2 ที่รัฐบาลอัดเงินไปในโครงการคนละครึ่ง ซึ่งสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับที่ดี

อย่างไรก็ตาม พอจะมีข่าวดีอยู่บ้าง กรณีคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อปลายเดือน มี.ค. ให้แก้ไข พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เรียกติดปากว่า พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ที่ใช้มาตั้งแต่การระบาดระลอกแรก โดยมีการยอมรับว่า พ.ร.ก.ฉบับเดิมนั้น ไม่สามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้อย่างตรงจุดนัก

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าวงเงินซอฟต์โลนเดิมที่ตั้งไว้ 5 แสนล้านบาท แต่ใช้ไปเพียง 1.3 แสนล้านบาทเท่านั้น นั่นหมายความว่าเงื่อนไขในการกู้ไม่ได้เอื้อให้เอสเอ็มอีเข้าถึง จึงได้ปรับเงื่อนไขให้เข้าถึงง่ายขึ้น และให้ บสย. ช่วยค้ำประกันสินเชื่อด้วย

อย่างไรก็ตามต้องรอติดตามว่า การแก้ไขพ.ร.ก.ดังกล่าว จะเสร็จสิ้นและประกาศใช้เมื่อใด และที่สำคัญจะได้เสียงตอบรับจากสถาบันการเงินหรือไม่ เนื่องจากธปท. กำหนดให้สถาบันการเงินที่ปล่อยซอฟต์โลนคิดดอกเบี้ยแค่ไม่เกิน 2 % ในช่วง 2 ปีแรก และไม่เกิน 5 % ใน 5 ปีแรก

ทั้งนี้อีกมาตรการที่เอกชน โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวจับตามากที่สุด คือ มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยผู้ประกอบการมีสิทธิ์ซื้อทรัพย์สินคืนได้ในภายหลัง (Asset Warehousing) วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งมาตรการในลักษณะนี้ประเทศไทยเคยทำมาแล้ว เมื่อครั้งเกิดสึนามิทางฝั่งอันดามัน ทำให้ธุรกิจโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต พังงากระบี่ รอดมาได้ถึงปัจจุบัน

มาตรการต่อลมหายใจ-วัคซีน ต้องทำพร้อมกัน

บรรดานักรบเอสเอ็มอี และภาคเอกชน ต่างเฝ้ามองความเคลื่อนไหวของรัฐบาล ว่า จะเร่งรีบออกมาตรการช่วยเหลือมาเมื่อไหร่ เช่นเดียวกับความพยายามที่จะผลักดันให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากหากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป ประเทศก็ไม่สามารถขับเคลื่อนได้

จากแผนงานนำเข้าวัคซีนของรัฐบาล ระบุว่า จะนำเข้าให้ได้ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้สามารถฉีดให้กับประชากร 50 ล้านคน หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร ดังนั้นหากประเมินเบื้องต้น กว่าจะมีการฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ ก็อาจจะล่วงเลยไปไตรมาสแรกหรือไตรมาสสอง ของปี 2565

จึงไม่ต้องแปลกใจที่นักเศรษฐศาสตร์ต่างคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะยังย่ำแย่ไปถึงปีหน้า สิ่งที่จะพอช่วยพยุงเศรษฐกิจไปได้ มีเพียงภาคการส่งออกที่ตัวเลขอาจขยับขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และ การอัดฉีดเม็ดเงินของภาครัฐ ส่วนภาคการท่องเที่ยวอาจจะต้องรอยาวไปถึงปลายปี 2565

ดังนั้น เอสเอ็มอี คงต้องภาวนาให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาโดยเร็ว พร้อมกับเตรียมรับมือกับระยะเวลาการระบาดที่ยืดเยื้อต่อไป ที่สำคัญต้องย้ำกับตัวเองว่า

โลกของธุรกิจจากนี้ต่อไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ปรับตัวแสวงหาโอกาสใหม่เท่านั้นจึงจะอยู่รอด