สรุปมาตรการเร่งด่วน กระตุ้นการซื้อ ลดค่าใช้จ่าย เยียวยาผลกระทบโควิด-19 ระลอก 3


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 มีมติเห็นชอบจัดสรรงบประมาณเงินกู้ เพื่อนำมาเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ผ่านโครงการต่าง ๆ ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

โครงการเราชนะ

เพิ่มเงินจำนวน 2,000 บาท ให้กับผู้ได้รับสิทธิ์ แบ่งจ่ายเป็นสัปดาห์ละ 1,000 บาท รวม 2 สัปดาห์ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย 32.9 ล้านคน ภายใต้กรอบวงเงิน 6.7 หมื่นล้านบาท โดยระยะเวลาใช้จ่ายสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2564

โครงการม33เรารักกัน

เพิ่มเงินจำนวน 2,000 บาท ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 แบ่งจ่ายเป็นสัปดาห์ละ 1,000 บาท รวม 2 สัปดาห์ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 9.27 ล้านคน ภายใต้กรอบวงเงิน 1.85 หมื่นล้านบาท โดยระยะเวลาใช้จ่ายสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2564

โครงการคนละครึ่งเฟส 3

ดำเนินการโครงการคนละครึ่งเฟส 3 โดยการโอนเงินจำนวน 3,000 บาท (ใช้ไม่เกินวันละ 150 บาท) ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งหมด 31 ล้านคน วงเงิน 9.3 หมื่นล้านบาท เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564

โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3

กลุ่มเป้าหมาย 13.65 ล้านคน สนับสนุนค่าครองชีพเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน เริ่มกรกฎาคม – ธันวาคม 2564

โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

กลุ่มเป้าหมาย 2.5 ล้านคน สนับสนุนค่าครองชีพเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน เริ่มกรกฎาคม – ธันวาคม 2564

โครงการ “ยิ่งใช้ ยิ่งได้”

รัฐสนับสนุน e-Voucher ให้กับประชาชนที่ใช้ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม และบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน เมื่อประชาชนใช้จ่ายกับร้านค้าดังกล่าว จะได้รับ e-Voucher จากรัฐ ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน โดยให้มีผลในรอบบิลเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน 2564