เป้าหมายของการใช้พลังงานก๊าซชีวภาพที่จะได้ประโยชน์สูงสุด ดังที่กระทรวงพลังงานสนับสนุน รวมไปถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คอยดูแลให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง นั่นคือการดึงเอาศักยภาพจากก๊าซชีวภาพเพื่อนำไป “ผลิตไฟฟ้า” ในรูปแบบของโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่จะได้รับผลประโยชน์ทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า รวมไปถึงประชาชนคนไทยที่จะมีความมั่นคงในเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้า
การลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนฯ
อีกจุดหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือเรื่องของการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ตามกรอบข้อกำหนดที่ประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เปิดรับซื้อ 150 เมกะวัตต์ เป็นเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับ 25%) 75 เมกะวัตต์ เสนอขายโครงการละไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงชีวมวล 75 เมกะวัตต์ เสนอขายโครงการละไม่เกิน 6 เมกะวัตต์
การนำพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์ หรือน้ำเสียจากกากตะกอนอุตสาหกรรมการเกษตร มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซชีวภาพ โดยการนำพลังงานที่ได้ไปผลิตไฟฟ้า จะต้องมีงบประมาณการลงทุนเป็นจำนวนเท่าใด และความคุ้มค่าที่จะได้มาเป็นแบบไหน
เพราะแน่นอนว่าในคำถามข้างบน จะเป็นตัวแปรสำคัญของการลงทุนสำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ที่จะเกิดขึ้น
ปริญญา ปานหงษา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ก้อง 111 พลังงานพืชหมุนเวียน จำกัด เจ้าของโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพขนาด 1 เมกะวัตต์ ภายใต้ข้อกำหนดของทางรัฐบาล ในพื้นที่ตำบลหนองประดู่ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากถนนหลักของชุมชน ลึกเข้าไปในพื้นที่ลานกว้างขนาด 20 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ จะเป็นผู้ให้คำตอบกับเรา เมื่อตั้งคำถามว่า การลงทุนสำหรับโรงไฟฟ้าจากน้ำเสีย ขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ จะต้องมีเงินสักกี่สิบล้านบาท หากอยากจะทำฝันให้เป็นจริง
เบื้องต้นปริญญา ให้ภาพรวมงบประมาณการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพของเขาอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท โดยเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพที่ใช้เทคโนโลยีคือใช้เครื่องยนต์ปั่นไฟเข้ากับมอเตอร์ โดยพลังงานที่ขับเคลื่อนเครื่องยนต์ก็คือก๊าซชีวภาพที่ใช้วัตถุดิบคือน้ำเสียจากโรงงานน้ำตาลในพื้นที่
ปริญญา เสริมว่า เงินลงทุน 50 ล้านบาทจะเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้น แบ่งเป็นรายละเอียดที่สำคัญ คือ ระบบมอเตอร์ปั่นไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ แบบ Induction Motors (ระบบใช้กำลังเครื่องยนต์ปั่นไฟ+มอเตอร์) ใช้ 18 เครื่อง ราคา 3 ล้านบาท ซึ่งหากใช้เทคโนโลยีที่ใหม่กว่า คือ ระบบ Generator Motors ขนาดโรงไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ใช้ 1 เครื่อง ราคา 12 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีค่าระบบทำความสะอาดก๊าซชีวภาพ 4 ล้านบาท ระบบของตู้คอนโทรลไฟฟ้ารวมทั้งระบบ 3 ล้านบาท ที่ดินสำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ใช้อย่างน้อย 20 ไร่ (ราคาขึ้นอยู่กับทำเลพื้นที่) รวมไปถึงค่าก่อสร้างอาคาร+ออฟฟิศสำนักงาน (ขึ้นอยู่กับการตกแต่ง) 5-10 ล้านบาท
ด้วยขนาดโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์สำหรับนายปริญญาที่ดูแลอยู่นั้น เขาบอกว่าจะสามารถไปสู่จุดคุ้มทุนทางธุรกิจได้ในระยะเวลา 5 ปี กับรายได้ที่ได้มาคือการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฯ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพแห่งนี้ จะผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยวันละ 200,000 – 240,000 หน่วย ขายหน่วยละ 4.60 บาท (ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก) จะทำให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีรายได้จากการขายไฟฟ้าที่เดือนละประมาณ 1 ล้านบาทเศษ โดยใช้พนักงาน เจ้าหน้าที่ที่ดูแลทั้งระบบ คือการผลิตไฟฟ้า การผลิตก๊าซชีวภาพไม่เกิน 10 คน
“มุมมองในธุรกิจนี้คือความคุ้มค่า และความยั่งยืนที่จะสามารถส่งต่อไปยังลูกหลานได้มากกว่าเรื่องของต้นทุนที่ลงทุนไป เพราะเมื่อเทียบกับงบประมาณการลงทุนที่แม้จะดูสูง แต่การทำสัญญาซื้อไฟฟ้า รวมถึงการต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ทำกันต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 20 ปี ผ่านการกำกับดูแลเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
สำหรับเขาแล้วถือเป็นธุรกิจที่คุ้มค่า หากมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อรากฐานสำหรับอนาคต” ปริญญา ฉายภาพความเห็นเรื่องพลังงาน