ยุทธการปรับกลยุทธ์องค์กร ต่อกรโควิด ในยุุค New Normal


ปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในองค์กรขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 ทั่วประเทศ ไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับการปรับและเปลี่ยนธุรกิจให้อยู่รอดในรูปแบบที่แตกต่างกัน

บางธุรกิจปรับตัวเองจนไม่เหลือเค้าโครงเดิมของธุรกิจ บางธุรกิจปรับรูปแบบตัวเองแต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นตัวตน หรือนำจุดแข็งของตัวเองโดยการพัฒนาและต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือกล่าวโดยรวมก็คือ “ปรับและเปลี่ยนเพื่อให้อยู่รอด”

ดังนั้น การปรับ หรือเปลี่ยนที่สำคัญขององค์กร จึงมีหลายรูปแบบ เช่น การลดขนาดองค์กร ลดจำนวนคนทำงาน ลดเงินเดือน หรือแม้กระทั่งลดสวัสดิการก็ตาม ผู้บริหารถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดการองค์กรให้สามารถผูกมัดใจพนักงานให้อยู่ร่วมกัน การทุ่มเทในการทำงาน และสร้างความสุขในที่ทำงาน

สำหรับรูปแบบการปรับลดจำนวนคนทำงานนั้น ขึ้นอยู่กับองค์การนั้นเล็งเห็นว่าคนทำงานมีความสำคัญอย่างไร เป็นเพียง“พนักงาน” หรือ “ทุนมนุษย์” ที่มีความสำคัญสำหรับธุรกิจในอนาคต นอกจากผลกระทบต่อภาคธุรกิจแล้ว ก็ยังส่งผลกระทบในระดับบุคคล ต้องปรับตัวและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต จนพูดกันจนติดปากว่า “New Normal”

เหนือสิ่งอื่นใด ต่อให้อยู่ในสถานการณ์วิกฤติแค่ไหน “โอกาส” ก็มีอยู่เสมอ จึงทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่อง “การบริหารจัดการภายในองค์กรที่ผันไปสู่ยุคดิจิทัล” ปรับรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ work from home จึงเป็นรูปแบบการทำงานอีกแบบที่จำเป็นในขณะนี้ และเพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของพนักงาน ยังรวมไปถึงแนวคิดของการบริหารธุรกิจ ซึ่งหลายองค์กรในปัจจุบัน มีการนำ 4 กลยุทธ์เพื่อมาปรับใช้กับองค์กรในยุุค New Normal ดังนี้

4 กลยุทธ์เพื่อมาปรับใช้กับองค์กรในยุุค New Normal

 

1. การปรับธุรกิจเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล

ธุรกิจปรับตัวไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การลดขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยากเสียเวลา ลดปริมาณงานเอกสารที่ไม่จำเป็น และการเลือกใช้แอปพลิเคชัน หรือซอฟต์แวร์อย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้นไม่ว่าพนักงานจะอยู่ที่ไหนก็สามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว เช่น การนัดประชุมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน การสัมภาษณ์งานออนไลน์ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

นอกจากเรื่องการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว วิสัยทัศน์ของผู้บริหารก็ต้องปรับให้เข้ากับยุคดิจิทัล เช่นกัน ต้องรู้เท่าทันเทรนด์ อัปเดตความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะอนาคตทุกธุรกิจ ย่อมมีการหมุนเวียนของกลุ่มคนทำงานเข้าสู่ระบบองค์กร ทุกวัย ทุก Generations หรือ ที่เรียกกันติดปากสั้นๆ ว่า “Gen” อย่างแท้จริง

2. การปรับรูปแบบการจ้างงาน

อย่างที่ได้กล่าวข้างต้น ผู้ประกอบการธุรกิจต้องปรับตัว ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ซึ่งอาจกระทบกับพนักงาน ทำให้มีการลดบางตำแหน่งงานออกไป ธุรกิจจึงมีการปรับเปลี่ยนการจ้างงาน ในแบบสัญญาจ้างระยะสั้นเพื่อตอบโจทย์การบริหารต้นทุนมากกว่า เช่น การจ้างพนักงานสัญญาจ้าง ฟรีแลนซ์ และงานพาร์ทไทม์ ซึ่งองค์กรสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน และสามารถสิ้นสุดสัญญาจ้างได้ตามกำหนด

ข้อดีของการจ้างงานแบบสัญญาจ้าง คือเหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ Gen Z ที่ไม่อยากทำงานในตำแหน่งเดิมในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตามการจ้างงานแบบสัญญาจ้างก็ไม่ได้ตอบโจทย์ทางเลือกสำหรับการประหยัดรายจ่ายเสมอไป ขึ้นอยู่กับค่าจ้างต่อชั่วโมง ระยะเวลาที่จ้างงาน และตำแหน่งงาน โดยเฉพาะลักษณะงานที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะด้าน เช่น ไอที โปรแกรมเมอร์ หรือ นักวิจัย ก็มีแนวโน้มได้รับค่าตอบแทนสูง และประการสำคัญนอกเหนือจากค่าจ้างแรงงานแล้ว สวัสดิการ อุปกรณ์การทำงานก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจโยกย้ายแห่งทำงานด้วยเช่นกัน

3. การปรับระบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่น

การปรับให้พนักงานสามารถทำงานจากที่ได้ ก็ได้ เช่น Remote working หรือแม้แต่ธุรกิจ SME หรือ start up บางแห่ง ก็ปรับรูปแบบโดยไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศสำหรับทำงาน หรือ“non-office worker” นั่นเอง บางองค์กรให้พนังานบางตำแหน่งงาน หรือทั้งแผนกได้รับสิทธิในการ Work from Home สัปดาห์ละ 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับลักษณะ ประกอบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน ทำให้การทำงานไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ ซึ่งการไม่ยึดติดกฎเกณฑ์เดิมๆ นี้ กลายเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกตำแหน่งงาน หรือเปลี่ยนงาน โดยเฉพาะพนักงานในกลุ่ม Gen Z ที่ต้องการอิสระ และยังดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถสูงให้มีเวลาทุ่มเท กับการทำงานได้มากขึ้นอีกด้วย

4. การเล็งเห็นคุณค่ากับผลงาน

การสร้างวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรยุคใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่คุณภาพของผลงานมากกว่าทัศนคติหรือปัจจัยส่วนตัวของพนักงาน ตัวอย่างเช่น สถานที่ทำงาน ความแตกต่างทางเชื้อชาติ เพศสภาพ การศึกษา หรือ เวลาการเข้าออกงาน ในโลกการทำงานยุคใหม่เปิดกว้างให้โอกาสพนักงาน หลายๆ Gen ผสมผสานการทำงานกัน โดยหัวใจหลักคือ ผู้บริหารร่วมส่งเสริมให้พนักงานทุกๆ ส่วน ได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งที่เห็นแตกต่างหรือทิศทางเดียวกัน การลดช่องว่างระหว่างวัย การสร้างความสัมพันธ์ภายในองค์กรให้แข็งแแกร่ง และช่วยพัฒนาคุณภาพงานให้ดียิ่งขึ้น

ธุรกิจจะก้าวต่อไป นอกเหนือจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารธุรกิจแล้ว กลไกสำคัญอีกประการคือ “บุคลากร” ที่มีศักยภาพ มีมุมมองในเชิงบวก และเรียนรู้ที่จะปรับปรุงและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง การปรับวิธีการทำงานขององค์กรจึงนำไปสู่การขับเคลื่อนธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุค ให้เข้ากับวิถีชีวิต New Normal อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิด “สร้างสมดุลของชีวิต จิตสุข กายก็จะสุข”

 

คอลัมน์ : HR Gen-X สร้างสมดุลธุรกิจ
By Thanmikaa (JAA).S

HR Gen-X to the Next step
เปิดประสบการณ์จากมุมมองของนักปฏิบัติกับประสบการณ์ที่ได้รับโอกาสจากหลากหลายธุรกิจที่ได้ทำงานมา มองมุมที่ได้ทำงานหลากหลายหน้าที่ ออกจากกรอบของตำราเรียนสู้สนามจริงในชีวิตปัจจุบัน จากพนักงานตัวเล็กๆ สู้หัวหน้างานที่อยากเป็น จากการเรียนรู้ในการเป็นผู้ให้ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นต้นแบบที่ดี แต่ก็มีดีให้เรียนรู้ประสบการณ์ ^^