“ดีป้า” ไม่รอโควิด เปิดตัว 5 เมืองอัจฉริยะต้นแบบนำร่อง Thailand Smart City ดันเพิ่ม 3 เมืองเตรียมรอเคาะ พร้อมชงไอเดียจัดทำ Thailand Smart City Index
(กรุงเทพมหานคร) – 24 พฤษภาคม 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ไม่รอโควิด เดินหน้าลุยพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย สร้างเมืองเดิมหน้าอยู่ เมืองใหม่ทันสมัย เกิดการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์บริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่ มีการบริการและบริหารจัดการเมืองอย่างเป็นระบบ เกิดความร่วมมือทั้งภาครัฐ-ภาคธุรกิจและประชาชน มุ่งเน้นประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน
ประกาศมอบตราสัญลักษณ์ “พื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะ” 5 เมืองนำร่อง ภูเก็ต, ขอนแก่น, แม่เมาะ, สามย่าน และ วังจันทร์วัลเลย์
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยว่า โครงการนี้ภายใต้การดูแลและกำกับดำเนินงานของสำนักงานเมืองอัจฉริยะแห่งประเทศไทย ต้องการกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมในทุกภูมิภาคภายใต้ลักษณะเมืองอัจฉริยะ 7 Smarts โดยมีการเห็นชอบมอบตราสัญลักษณ์รับรองเป็น “พื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะ” นำร่องด้วย 5 เมืองสำคัญได้แก่
(1) “ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ” ตั้งเป้าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยว การศึกษา นวัตกรรมบริการในระดับมาตรฐานนานาชาติ
(2) “ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ” พัฒนาจังหวัดขอนแก่นสู่มหานครน่าอยู่มุ่งสู่เมืองนวัตกรรมศูนย์กลางเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
(3) “แม่เมาะเมืองน่าอยู่” จังหวัดลำปาง มุ่งเป็นเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศน์ (Eco Town) เพื่อสนับสนุนการทำงานของวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเริ่มต้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่
(4) “สามย่านสมาร์ทซิตี้” กรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าพัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่สังคม
(5) “เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์” อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เป็นฐานสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเมืองแห่งมาตรฐานคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในระดับสากลของประเทศไทย
เดินหน้าต่อไม่รอโควิด
ดันเพิ่ม 3 เมืองต้นแบบรอเคาะ พร้อมชงไอเดียจัดทำ Thailand Smart City Index
“ยะลาเมืองอัจฉริยะ” มุ่งพัฒนาให้เป็น “เป็นศูนย์กลางดิจิทัลกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้” เพื่อพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในพื้นที่เมือง เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ค้านักลงทุนเข้าสู่พื้นที่เพื่อฟื้นฟูบทบาทด้านการเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ
“เมืองศรีตรัง” (Sri-Trang City) มุ่งเน้นการเป็น “เมืองสะอาด สงบ ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยการการจัดผังเมืองรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจยุคดิจิทัล เช่น ระบบโครงข่ายการสื่อสาร และระบบโครงข่ายของการดูแลความปลอดภัยสำหรับผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือน
“ฉะเชิงเทรา” มุ่งพัฒนาเพื่อรองรับการเป็น “พื้นที่เมืองใหม่สำหรับการอยู่อาศัย” ของ EEC โดยพัฒนาเมืองอัจฉริยะภายใต้แนวทาง Thai Way of Life ซึ่งจะได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองพักอาศัยชั้นดีรองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ มีสภาพแวดล้อมน่าอยู่และทันสมัย ที่มีพื้นที่สีเขียว มีการเดินทางสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งมีระบบการจัดการสาธารณูปโภคที่เป็นระดับมาตรฐานสากลตอบโจทย์การเป็นเมืองใหม่สำหรับอยู่อาศัยที่ทันสมัยระดับสากล เพื่อให้ฉะเชิงเทราเป็น “เมืองสะดวกสบายน่าอยู่ ประชาชนมีความสุข มั่งคั่งและยั่งยืน”
พร้อมชงแนวทางการจัดทำ Thailand Smart City Index ที่จะเป็นดัชนีเทียบเคียงกับระดับสากล ส่งเสริมให้เมืองได้เห็นโอกาสและความท้าทาย นำไปสู่การพัฒนาเมืองแบบไม่สิ้นสุดอย่างเป็นระบบ