ถอดบทเรียน นโยบายนำการตลาด ปลดล็อก “กระท่อม” หวั่นซ้ำรอย “กัญชา”


อีกไม่ถึง 3 เดือนนับจาก พ.ร.บ.พืชกระท่อม จะมีผลบังคับใช้ในส่วนของการปลดล็อกออกจากพืชยาเสพติดประเภทที่ 5 ในวันที่ 24 ส.ค.64 ให้สามารถใช้เพื่อการบริโภคตามวิถีชาวบ้านได้ คำว่า “วิถีชาวบ้าน” คือ การบริโภคใบ 2-3 ใบ/ครั้ง หรือวันละประมาณ 10-30 ใบในรายที่มีการใช้กระท่อมอยู่ตามปกติ ซึ่งเรามักจะเห็นวิถีชาวบ้านเหล่านี้ในพื้นที่ภาคใต้ เป็นส่วนใหญ่

เราจะยังไม่กล่าวถึงเรื่องของกฎหมายลูกที่จะมีข้อบังคับคร่าวๆ ในเรื่องของการปลูก การเก็บเกี่ยวและการจำหน่าย รวมทั้งข้อห้ามในส่วนของเยาวชนที่คาดว่า จะอนุญาตให้ใช้ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยขณะนี้กฎหมายลูกดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนแก้ไขของกฤษฎีกา ก่อนยื่นให้ครม.พิจารณาอีกครั้ง รวมถึงการประกาศปลดล็อกพืชกระท่อมของอย.ในกฎกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคาดว่าขั้นตอนเหล่านี้จะออกมาทันเวลาในวันที่ 24 ส.ค.64 เช่นเดียวกัน

สำหรับประโยชน์ของพืชกระท่อม จากข้อมูลของ ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า มีการใช้ในประเทศไทยมานาน โดยใช้เป็นยาแก้โรคบิด ท้องร่วง และปวดมวนท้อง นอกจากนี้ชาวนา และกลุ่มผู้ใช้แรงงานยังบริโภคโดยการเคี้ยวใบสด เพื่อให้มีแรงทำงานและสามารถทนตากแดดอยู่กลางแจ้งได้เป็นเวลานานโดยไม่รู้สึกเหนื่อย ปัจจุบันในประเทศนิวซีแลนด์ ใช้ใบกระท่อมเพื่อควบคุมการติดฝิ่น โดยมีคุณสมบัติการลดความเจ็บปวดที่ดีกว่ามอร์ฟีน เพราะผลข้างเคียงเรื่องอาการเสพติดที่มีน้อยกว่า

ขณะเดียวกันหากเสพในปริมาณมากจะทําให้มีอาการมึนงง และคลื่นไส้อาเจียน โดยอาการเหล่านี้หลังจากใช้ไปแล้วในปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ดังนั้นควรปรึกษาหมอยาหรือผู้ใหญ่ทุกครั้งก่อนที่จะบริโภค

ขณะที่สารสกัดสำคัญที่พบในใบกระท่อม คือ Mitragynine เป็นสารกลุ่ม Indole alkaloids ที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในการลดเจ็บปวด ต้านการอักเสบ กระตุ้นประสาท และต้านการซึมเศร้า โดยข้อมูลจาก Biothai ระบุว่า นักวิจัยญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยชิบะและมหาวิทยาลัยโจไซ ซึ่งร่วมศึกษาวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยไทย ได้จด “สิทธิบัตรอนุพันธ์ของสารสกัด Mitragynine จากใบกระท่อม กระบวนการผลิต ยา และการนำไปใช้รักษาโรคในคนและสัตว์” แล้ว

อย่างไรก็ตามสิทธิบัตรดังกล่าวจะไม่กระทบกับการปลูก การใช้ใบสด หรือการแปรรูปเบื้องต้น (ตากแห้ง บด ป่น ต้ม เป็นต้น) แต่อาจจะมีผลกระทบกับ การวิจัยเพื่อต่อยอดการใช้สาร Mitragynine มาใช้ประโยชน์ทางยาในรูปแบบต่างๆ และการแปรสภาพใบกระท่อมไปใช้ประโยชน์ซึ่งอาจมีกลุ่มอนุพันธ์ของ Mitragynine ซึ่งผลกระทบดังกล่าวอาจกระทบไปถึงอุตสาหกรรมจากกระท่อมที่จะส่งออกต่างประเทศในอนาคต
หากเปรียบเทียบกับ “กัญชา” ข้อได้เปรียบของกระท่อมไทย ในภาคธุรกิจคือ ความเป็นพืชเฉพาะถิ่น ที่ยังสามารถวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ได้อีกมาก โดยต่างประเทศยอมรับว่าคุณสมบัติทางยาของกระท่อมไทยนั่นมีคุณภาพดีกว่าประเทศเพื่อน

 

นอกจากนี้ วิวัฒนาการ “กัญชา” ในบ้านเรา ยังล้าหลังต่างประเทศ ทั้งเรื่องของชนิดพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ทั่วโลก การนำไปใช้ในรูปแบบต่างๆ

 

นี่อาจเป็นเรื่องรัฐบาล รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะเริ่มต้นพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ในการส่งเสริมให้พืชกระท่อม เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย แม้ว่าทางกระทรวงยุติธรรมจะแย้มมาว่า ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของการส่งเสริมและการต่อยอดไว้แล้วบางส่วน

วันนี้ เรามี “กัญชา” เป็นบทเรียนของการเอานโยบายนำการตลาด ที่สอดไส้ด้วยผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม หลายวิสาหกิจชุมชนซึ่งเริ่มต้นทำกัญชา ด้วยความหวัง ลงทุนไปแล้ววันนี้กลับไม่ได้รับผลตอบแทน นอกจากการขายส่วนประกอบเพียงเล็กๆน้อยๆ เราคงจะไม่อยากให้กระท่อม จะต้องกลายเป็นเช่นเดียวกับ “กัญชา” ที่ปัจจุบัน เริ่มมาถึงทางตัน