“โควิดระบาด-กระจายวัคซีนช้า” ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. 64 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.62 จากปัจจัยโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่-การกระจายวัคซีนล่าช้า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ค. 64 อยู่ที่ระดับ 44.7 ลดลงจากเดือน เม.ย. 64 ที่อยู่ระดับ 46.0 โดยตัวเลขดังกล่าวถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการสำรวจครั้งแรกในเดือน มิ.ย.62

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงมาจากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และภาคธุรกิจ รวมถึงในเรื่องการกระจายวัคซีนที่ยังไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาอีกครั้ง คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น เราชนะ, ม33เรารักกัน เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภค, การฉีดวัคซีนที่ดูเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจแนะนำว่ารัฐบาลควรกระจายวัคซีนให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง เพียงพอกับที่ลงทะเบียนไว้, เร่งควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในคลัสเตอร์ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล, ขับเคลื่อนการส่งออก และปลดล็อกแรงงานในบางอุตสาหกรรม, ฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้กลับมามีรายได้ทันที หลังประชาชนได้รับวัคซีน และมีภูมิคุ้มกันหมู่ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ, ,มาตรการช่วยเหลือธุรกิจ เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ, มาตรการปรับโครงสร้างหนี้

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน พ.ค.64 อยู่ที่ระดับ 38.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้านี้ที่อยู่ระดับ 40.3 ขณะที่ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ระดับ 41.3 ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ระดับ 42.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 53.9 ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ระดับ 54.7