4 ธุรกิจเนื้อหอมที่ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนมากที่สุดในเดือน พ.ค. 64


กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยเดือน พ.ค.64 มีชาวต่างชาติลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น 33% แต่เงินลงทุนปรับลดลง 89% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.64

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ในเดือน พ.ค. 64 คณะกรรมการได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 20 ราย เข้ามาประกอบธุรกิจในไทยตาม พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ โดยต่างชาติส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนจะมาจากประเทศญี่ปุ่น, ไต้หวัน และสิงคโปร์ มีการนำเงินลงทุนมาประกอบธุรกิจมากกว่า 351 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทย 743 คน

“การอนุญาตลงทุนในครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญ หรือเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบ การติดตั้ง การบริหารจัดการ และการบำรุงรักษาระบบควบคุมการจัดการจราจร”

สำหรับธุรกิจที่คนต่างชาติได้รับอนุญาต มีดังต่อไปนี้

1. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 8 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น มีเงินลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 121 ล้านบาท ตัวอย่างธุรกิจ บริการให้ใช้ช่วงสิทธิโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สำหรับการวิเคราะห์และประเมินสภาพเพื่อทำการซ่อมแซมบำรุงรักษารถจักรยานยนต์แก่ตัวแทนจำหน่าย (dealer) ในประเทศไทย, บริการขายต่อบริการโทรคมนาคมเพื่อภายในประเทศ ประเภทบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน ระดับ Medium ตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ กสทช.

2. ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีกสินค้าสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม/ค้าส่งสินค้า จำนวน 5 ราย เป็นนักลงทุนญี่ปุ่น และจีน เงินลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 66 ล้านบาท ตัวอย่างธุรกิจ การทำกิจการนายหน้าประกันวินาศภัยประเภทการจัดให้มีการประกันภัยโดยตรง ตามที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), การค้าส่งสินค้าประเภทเครื่องสวมฉลาก (Sleeve labeling machine) ซึ่งออกแบบและพัฒนา หรือผลิตโดยบริษัทในเครือในต่างประเทศ

3. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ จำนวน 4 ราย เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฝรั่งเศส เงินลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 78 ล้านบาท ตัวอย่างธุรกิจ บริการให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทในเครือในต่างประเทศตามที่ระบุชื่อ, บริการพัฒนา Application & Software

4. ธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน จำนวน 3 ราย เป็นนักลงทุนจากไต้หวัน และเยอรมนี เงินลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 86 ล้านบาท ตัวอย่างธุรกิจ บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งระบบชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง และระบบควบคุมการจัดการจราจร ภายใต้โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง

ทั้งนี้ เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 มีนักลงทุนต่างชาติได้รับอนุญาตฯ รวม 95 ราย เงินลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 8,311 ล้านบาท ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ