ขนส่ง “อัลฟ่า” แพ้สงครามราคา ประกาศปิดกิจการพร้อมเลิกจ้างพนักงานทันที


อย่างที่ทราบดีว่า ในธุรกิจขนส่งหรือโลจิสติกส์ในประเทศไทย มีบริษัทในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่ประกอบด้วยผู้เล่นหลายรายทั้งเล็กและใหญ่ ที่ล้วนห้ำหั่นประชันกลยุทธ์กันแบบหมัดต่อหมัด ดุเดือดเลือดสาดจากเดิมพันมูลค่าสูงลิบกลายเป็นตลาดอันหอมหวาน ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องราว 35% คิดเป็นมูลค่าราว 6.6 หมื่นล้านบาท และแนวโน้มยังพุ่งสูงขึ้นทุกปี

เมื่อการเติบโตของอีคอมเมิร์ซที่ก่อนหน้านี้มีอัตราการเติบโตเป็นทุนเดิม ทั้งได้อานิสงส์ขนานใหญ่จากสถานการณ์โควิด-19 อันนำมาสู่พฤติกรรมบริโภคยุคใหม่ที่เน้นใช้ชิีวิตในบ้าน ชอบการช้อปแบบง่าย ๆ จ่ายสะดวก ยิ่งเกิดเป็นสมรภูมิแห่งสงครามระลอกใหญ่ของธุรกิจขนส่งที่ขนเอากลยุทธ์แบบ 360 องศางัดออกมาต่อสู้อย่างดุเดือด โดยเฉพาะสงคราม หั่นค่าส่งให้ถูกลงเพื่อมัดใจพ่อค้าแม่ขายและลูกค้ามาเลือกใช้บริการ

ล่าสุด เป็นเรื่องที่สร้างความสะเทือนใจให้วงการโลจิสติกส์ไม่น้อย เมื่อบริษัท อัลฟ่า เพอร์ฟอร์มานซ์ กรุ๊ป จำกัด หนึ่งในผู้ให้บริการด้านการขนส่ง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแบรนด์โลจิสติกส์ที่หลายคนรู้จักดีในชื่อ Alpha Fast ออกมาประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานกว่า 400 คน พร้อมระบุเหตุผลว่าธุรกิจไปต่อไม่ไหว เนื่องจากประสบสภาวะขาดทุนและการตัดราคาจากคู่แข่งทำให้บริษัทไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปได้

สำหรับผลประกอบการของบริษัท จากรายงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ปี 2561

รายได้รวมอยู่ที่ 281,049,296.25 บาท / ขาดทุน 98,858,922.24 บาท

ปี 2562

รายได้รวม 297,218,723.18 บาท / ขาดทุน 87,487,279.33 บาท

ปี 2563

รายได้รวม 242,121,167.24 บาท /  ขาดทุน 47,948,760.17 บาท

บริษัท ระบุด้วยว่า ซาบซึ้งและขอขอบคุณลูกค้าที่ได้ใช้บริการแม้จะเป็นช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ช่วงหนึ่งของหนังสือเลิกจ้างดังกล่าว ระบุว่า

 

“อย่างที่ท่านได้ทราบดี หลายปีที่ผ่านมาการขนส่งพัสดุอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันที่รุนแรง อัลฟ่าได้แข่งขันและถูกจัดอันดับสูงสุดในเรื่องของคุณภาพการให้บริการที่ดีโดยลูกค้าของเรา อัลฟ่าซาบซึ้งและขอบคุณทุกท่านมากกับการมีส่วนร่วมของท่านทั้งหลาย

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานโยบายการแข่งขันในอุตสาหกรรมของเราได้เปลี่ยนจากคุณภาพการให้บริการเป็นการตัดราคามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดราคาในปีนี้ได้เป็นไปในระดับที่ไม่ยั่งยืน เป็นการตัดราคาที่ต่ำกว่าทุน ผู้เล่นในอุตสาหกรรมของเราส่วนใหญ่ยังขาดทุนและใช้วิธีแก้การขาดทุนโดยการระดมทุนมากขึ้น น่าเสียดายที่อัลฟ่าจะมีความพยายามมากมาย สุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถระดมทุนเพิ่มเติมจากนักลงทุนเพื่อต่อสู้กับอุตสาหกรรมที่มีค่าใช้จ่ายสูงนี้ได้อีก

ดังนั้นเราจึงไม่สามารถให้บริการทางธุรกิจของเราต่อไปได้ เราต้องหยุดดำเนินธุรกิจและเลิกกิจการในประเทศไทย”

 

 

ซึ่งแม้ อัลฟ่า จะเปิดตัวอย่างสวยงามบนธุรกิจขนส่ง โดยให้บริการทั้งระบบขนสินค้า แบบรับจากมือผู้ส่ง และส่งถึงมือผู้รับ (Door to Door) ให้บริการเฉพาะในเขต กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ แบบด่วนส่งถึงมือลูกค้าในวันทำการถัดไป แถมยังเข้ารับสินค้าจากผู้ส่งได้ถึง 21.00 มีแอปพลิเคชันรองรับการติดตามสินค้าและบริการ ฯลฯ

แต่เมื่อประสบภาวะขาดทุนแม้จะมีการขอระดมเพิ่มทุน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงจำเป็นต้องตัดสินใจปิดตัวลง พร้อมสิ้นสุดสัญญาว่าจ้างพนักงานในไทย และมีผลทันที

(ประกาศเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป) ส่งผลให้พนักงานกว่า 400 คนถูกเลิกจ้างทั้งหมดทันที