“ร้านอาหาร” วันนี้ไม่ไหวปรับตัว ได้แต่ปรับใจ ขอรัฐเร่งเยียวยา ปล่อยสินเชื่อเงินกู้-รับซื้อข้าวกล่อง


นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ตามที่ รัฐบาลได้ประกาศห้ามนั่งรับประทานอาหารภายในร้าน โดยเปิดให้สั่งกลับบ้านได้เพียงอย่างเดียว ตามมาตรการควบคุมป้องกันโควิด-19 ในส่วนของพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้นั้น เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งขณะนี้เผชิญวิกฤตหนักอยู่แล้ว ให้ไม่สามารถไปต่อได้อีก

ขณะเดียวกันจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะงานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ซึ่งเกี่ยวข้องกับไซต์ก่อสร้าง และร้านอาหารนั้น ก็ไม่ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวกับกับร้านอาหารเข้าร่วม เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ทั้งนี้ การแก้ไขด้วยมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อร้านอาหารนั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับรู้ข้อมูลจริงเกี่ยวกับร้านอาหารทั้งหมด โดยมาตรการที่รัฐออกมาเยียวยาเศรษฐกิจล่าสุด ทั้ง “คนละครึ่ง” เฟส 3 และ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ซึ่งจะเห็นว่าไม่ได้รับผลตอบรับจากประชาชนเท่าที่ควร เนื่องจากเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด เช่นเดียวกับที่ไม่มีมาตรการเยียวยาผลกระทบร้านอาหารออกมาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 รอบแรก

ในส่วนของมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหาร จากการหารือเบื้องต้นของ SME D Bank ซึ่งพร้อมอนุมัติเงินสินเชื่อประมาณ 2,000 ล้านบาท เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยปล่อยกู้รายละ 200,000 บาท จำนวน 10,000 ราย ซึ่งขณะนี้มาตรการสินเชื่อดังกล่าวจะต้องรอการพิจารณาจาก ศบค.อีกครั้งหนึ่ง

“ถามว่าทำไมวันนี้ร้านอาหารจึงไม่ปรับตัว ที่ผ่านมากว่า 1 ปีครึ่ง เชื่อว่าผู้ประกอบการร้านอาหารทุกร้านทุกคน ปรับตัวสู้ดิ้นรนอย่างเต็มที่ สมาคมฯ จากที่ดูแลผู้ประกอบการร้านอาหารซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล แต่วันนี้ต้องดูแลร้านอาหารทั่วประเทศ โดยไม่เลือกว่าจะเป็นร้านเล็ก ร้านใหญ่ เพราะทุกร้านได้รับความเดือดร้อนหมด วันนี้ร้านอาหารปรับตัวไม่ไหว ทุกคนได้แต่ปรับใจ และทำใจยอมรับ”

ขณะที่ข้อเสนอแนวทางการเยียวยาเฉพาะหน้าคือ เมื่อมีการปิดล็อกดาวน์พื้นที่แคมป์คนงาน ไซส์ก่อสร้าง ขอให้ภาครัฐได้จัดซื้ออาหารข้าวกล่องจากร้าน เพื่อแจกจ่ายให้กับแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ล็อกดาวน์ ประมาณวันละ 200,000 กล่อง ในราคากล่องละ 50 บาท เท่ากับใช้เงินวันละ 10 ล้านบาท หรือเดือนละ 300 ล้านบาท เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหารมีรายได้พอประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปในระยะเวลา 1 เดือนนับจากนี้