ช่วย“ร้านอาหาร” ไม่ได้จบแค่ร้านอาหาร


 

การประกาศห้ามนั่งในร้านอาหารในกรุงเทพมหานครครั้งล่าสุด ได้บั่นทอนกำลังใจเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร ที่มีเหลืออยู่น้อยนิดอยู่แล้ว ให้เหือดแห้งหายไปจนพูดได้ว่าหมดไม่มีเหลืออีกต่อไป

 

ที่ผ่านมาภาครัฐได้ยื่นมือเข้าช่วยธุรกิจร้านอาหารโดยตรงอยู่บ้าง เข่น โครงการจับคู่กู้เงิน ที่กระทรวงพาณิชย์จับมือกับสถาบันการเงินของรัฐ 5 แห่งปล่อยกู้ แต่ก็ดูไม่ใคร่เป็นชิ้นเป็นอันนัก

 

ขณะที่โครงการเงินกู้ฟื้นฟูธุรกิจ ซอฟต์โลน ระยะที่ 2 การเข้าถึงของธุรกิจร้านอาหารก็มีไม่มาก โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารรายย่อย ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ซอฟต์โลนได้ ด้วยเงื่อนไขหลากหลายประการ

 

วันนี้ร้านอาหารรายย่อยรายกลาง ซึ่งคาดการณ์ตัวเลขมีอยู่ประมาณ 3 แสนรายทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ประกอบการมากที่สุด ผู้ประกอบการเหล่านี้ใกล้สิ้นลมแล้ว ด้วยยอดขายที่หายวับไปทันที จากการประกาศห้ามนั่งที่ร้าน ส่วนร้านที่เปิดบริการเดลิเวอรี่ ก็ยังต้องเผชิญกับต้นทุนค่าบริการของเจ้าของแพลตฟอร์มที่คิดค่า GP หรือส่วนแบ่งรายได้ สูง 20-30 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญยอดขายก็ลดน้อยถอยลงตามกำลังซื้อที่หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

 

นายกสมาคมภัตตาคารไทย นางฐนิวรรณ กุลมงคล ได้ยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารในหลายกรณี ทั้งเรื่องการช่วยลดต้นทุน ค่าเช่าร้าน ค่าน้ำไฟ ผ่อนผันลดหย่อนภาษี ควบคุมการเก็บ GP จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ การช่วยเหลือด้านเงินกู้ การช่วยด้านยอดขาย โดยให้ภาครัฐจัดซื้ออาหารหรือข้าวกล่องจากรายเล็กๆ เช่นข่าวกล่องสำหรับมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์

 

ข้อเรียกร้องของสมาคมภัตตาคารไทย ค่อนข้างครอบคลุมรอบด้าน ทั้งเงินทุนหมุนเวียน การลดต้นทุนและหาทางเพิ่มรายได้ เพื่อประคับประคองสถานการณ์ระหว่างนี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับสัญญาณชัดเจนจากหน่วยงานรัฐ หรือ รัฐบาลว่าจะช่วยเหลือในด้านใด ระดับใด

 

การล้มหายตายจากของบริการร้านอาหาร ไม่ได้หมายความว่า ผู้ได้รับผลกระทบจะมีเพียงแค่เจ้าของกิจการร้านอาหาร และ ลูกจ้าง แต่ยังรวมไปถึงภาคการผลิตเกี่ยวเนื่องอื่นๆด้วย

 

เมนูอาหาร 1 จาน ประกอบด้วยวัตถุดิบต่างๆมากมาย ทั้งเนื้อ ผัก ปลา เครื่องปรุงรส ดังนั้นยอดขายที่หายไปจากหน้าร้าน ย่อมหมายถึงรายได้ของธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆหายไปด้วย โดยเฉพาะภาคเกษตร ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของธุรกิจอาหารและร้านอาหาร
ดังนั้นจะเห็นว่าในบางประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหาร โดยจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูร้านอาหารขึ้นมา เพื่อปล่อยกู้ให้กับเจ้าของกิจการร้านอาหารทุกรูปแบบ ตั้งแต่รถขายอาหาร ผับ บาร์ ไปจนถึงแฟรนไชส์อาหารที่มีสาขา เช่นกองทุน Restaurant Revitalization Fund ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจร้านอาหารคือเซกเตอร์ธุรกิจ ที่มีซัพพลายเชน ยาว เกี่ยวข้องกับทุกภาคการผลิตนั้นเอง

 

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดว่า ความช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหาร ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากร้านอาหารเพียงอย่างเดียว เช่น การส่งเสริมหรือช่วยเหลือธุรกิจต้นน้ำอย่างภาคเกษตร ให้มีความเข้มแข็ง ทั้งด้านต้นทุน และคุณภาพ ตอบโจทย์การตลาด ก็เป็นการช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารไปด้วยในตัว

 

ช่วงวิกฤตินี้ การส่งเสริมสนับสนุนเกษตรต้นน้ำ มีความสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะการสนับสนุนภาคเกษตรที่มีการบริหารจัดการด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่นการสนับสนุน แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงคำสั่งซื้อ ผลิตผลการเกษตรจากฟาร์มเกษตรกร กับ ร้านค้าร้านอาหาร ซึ่งทำให้ต้นทุนต่ำลง หรือการปล่อยกู้ให้กับภาคเกษตรที่มีการบริหารจัดการแบบ Smart Farmer เป็นต้น

 

ความช่วยเหลือในภาวะวิกฤติ จำเป็นต้องกำหนดไว้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ด้วยการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง ซึ่งแน่นอนว่าวันนี้ รัฐบาลต้องเร่งต่อลมหายใจร้านอาหาร โดยเฉพาะเรื่องเงินทุนหมุนเวียน ต้นทุน และการเสริมสร้างรายได้ ขณะเดียวกันการช่วยเหลือภาคเกษตร ซึ่งเป็นต้นน้ำและต้นทุนของธุรกิจอาหาร ก็ควรสนับสนุนช่วยเหลือไปพร้อมกัน