3 เดือน 7.5หมื่นล้าน ขายของออนไลน์พุ่ง “ข้าราชการ” แชมป์นักช็อปตัวจริง


 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โดย นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสนค. กล่าวว่า สนค. ได้ทำการสำรวจความเห็นของประชาชน จำนวน 7,499 คน ทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค.64) ในกลุ่มสินค้าประเภทต่างๆ

.
พบว่ามีมูลค่าการใช้จ่ายสูงถึง 75,000 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้น 45.05% จากที่เคยสำรวจช่วงเดือนพ.ย.63 ที่มีมูลค่า 52,000 ล้านบาท/เดือน และมีการซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้น 68.97% จากการสำรวจครั้งก่อน ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค New Normal ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หันมาซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์กันมากขึ้น

.
สำหรับสินค้าซึ่งได้รับความนิยม พบว่า กลุ่มเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมซื้อออนไลน์สูงสุด รองลงมา คือ อาหารและเครื่องดื่ม , สินค้าสุขภาพ เครื่องสำอาง ของใช้ส่วนบุคคล , ของใช้ในบ้าน สำนักงาน , เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ , โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์มือถือ ฯลฯ โดย โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์มือถือ เป็นสินค้าที่มีสัดส่วนใช้จ่ายออนไลน์สูงสุด

 

ด้านช่วงอายุของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ พบว่า ผู้ที่เคยซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี โดยเฉลี่ยคิดเป็น 87% รองลงมา คือ น้อยกว่า 20 ปี คิดเป็น 85.71% และช่วงอายุ 30-39 ปี คิดเป็น 80.13% โดยกลุ่มผู้ซื้อใกล้เคียงกับผลสำรวจเดือนพ.ย.63

.
แต่แนวโน้มผู้ซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้ที่เคยซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุดในเดือนพ.ย.63 ได้แก่ ผู้ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ซื้อออนไลน์คิดเป็น 50.62% รองลงมา 30-39 ปี 50.20% และ 20-29 ปี 49.04% ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะพฤติกรรมของคนใน Generation Y และ Generation Z ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ส่งผลให้สามารถเรียนรู้ และปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว

.
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงปริมาณการใช้จ่าย พบว่า กลุ่มอายุที่มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยสูงสุด คือ ช่วง 20-29 ปี ประมาณ 2,379.30 บาท/เดือน รองลงมา 50-59 ปี 2,349.00 บาท/เดือน

.
และหากจำแนกตามอาชีพ พบว่า ผู้ที่ใช้จ่ายออนไลน์สูงสุดมีอาชีพ นักศึกษา คิดเป็น 92.88% โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์มือถือ และกลุ่มคอมพิวเตอร์ รองลงมา คือ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานรัฐ 84.57% และพนักงานบริษัท 84.36%

.
โดยข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานรัฐ และนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ เจ้าของแผงค้า มียอดค่าใช้จ่ายสูงสุด สอดคล้องกับความมั่นคงในอาชีพและการเงิน

.
หากจำแนกตามภูมิภาค พบว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีการใช้จ่ายผ่านออนไลน์มากที่สุด 81.62% ตามด้วย ภาคใต้ 71.68% ภาคกลาง 68.25% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 67.86% และภาคเหนือ 64.42% ตามลำดับ