ทางออก! ตลาดวิสาหกิจชุมชนปลูก “กัญชา”


หลายวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชา กำลังคลำหาทิศทางอย่างสะเปะสะปะ เนื่องด้วยความไม่แน่นอนทางการตลาดตามนโยบาย กัญชาเพื่อประชาชนของรัฐบาล ที่กำหนดให้ ช่อดอก ดอก ต้องส่งให้กับหน่วยงานรัฐคู่สัญญา ทั้งโรงพยาบาล และรพ.สต. เพื่อผลิตเป็นยา น้ำมันกัญชา ให้กับผู้ป่วย แล้วผลผลิตส่วนที่เหลือจะทำยังไง ก็ต้องขายให้กับกลุ่มที่ทำร้านอาหาร และคาเฟ่ ที่วิสาหกิจชุมชนไหนดิ้นได้ไวก็ดิ้นได้ก่อน

 

ขณะที่วิสาหกิจชุมชนอีกไม่น้อย ซึ่งลงทุนไปกับการปลูกกัญชา แต่รายได้ที่มีเข้ามาไม่เพียงพอกับต้นทุนที่เสียไป ได้แต่หวังนับวันคอยเวลาคืนทุนซึ่งไม่รู้จะนานอีกเท่าไหร่

 

นี่คือผลเสียของการออกนโยบายโดยไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ด้วยหวังผลเรื่องของคะแนนเสียง และผลประโยชน์ลึกๆเฉพาะพวกพ้อง โดยหวังว่า เมื่อปลดล็อกกัญชาได้แล้ว วันหนึ่งจะมีผลถึงเรื่องการขายเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกร แต่แม้ผู้ออกนโยบายเองก็ยังติดหล่มกับผลพวงที่เกิดขึ้น เนื่องจากการรวมเอาหลายหน่วยงานมากเกินไปในการดูแลพืชเพียงชนิดเดียว ส่งผลถึงความยุ่งยากต่อการปลูก การทำการตลาด

 

หากจะบอกว่าเหตุผลของการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดนั้น เพื่อไม่ให้ผลผลิตออกมาจนล้นตลาด ซึ่งก็ผิดคาด เพราะไม่อาจควบคุมผลผลิตกัญชา จากใต้ดินที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ให้หน่วยงานกฎหมายต้องไล่จับไม่เว้นแต่ละวัน ทิศทางของกัญชาไทยจึงดูสะเปะสะปะไปหมดจนจับต้นชนปลายไม่ถูก

 

เกษตรกรผู้ปลูกจำนวนหนึ่งจึงต้องดิ้นรน ภายใต้การรรวมกลุ่มระหว่างวิสาหกิจต่อวิสาหกิจ และหน่วยงานรัฐ ที่พอจะมองเห็นทิศทาง ดังเช่น ร้านผลิตภัณฑ์สุขภาพท่อมชงชา (Tomchongcha shop :T2C shop) ตัวอย่างนำร่องของ รพ.ศูนย์อุดรธานี โดยผลลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายจะต้องผ่านการคัดเลือกและรับรองผลิตภัณฑ์จากคณะกรรมการคัดเลือก และเขตสุขภาพที่ 8 รวมทั้งยื่นจดทะเบียนตรารับรองจากพาณิชย์จ.อุดรธานี

 

ร้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ “ท่อมชงชา” มีที่มาจาก “ท่อม” หมายถึง กระท่อม “ชง” หมายถึง กัญชง “ชา” หมายถึง กัญชา เปิดให้บริการในพื้นที่รพ.อุดรธานี เป็นโรงพยาบาลนำร่องแห่งแรก โดยมีหน่วยงานและวิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นแหล่งปลูกกัญชาที่ได้รับอนุญาต และผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่มีส่วนประกอบจากกัญชาร่วมวางจำหน่าย และสาธิตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่
รพ.ห้วยเกิ้ง, รพ.มะเร็ง, วิสาหกิจชุมชน, ร้านมาดามพาเท่ห์, ร้านสวีทโฮม, โดยมีสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง สมุนไพร ที่มีส่วนประกอบจากกัญชาวางจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ

 

นอกจากที่ จ.อุดรธานีแล้ว “ท่อมชงชา” ยังมีที่ จ.เลย ในพื้นที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย (สสจ.เลย) ซึ่งเปิดเป็นพื้นที่ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาให้กับ 3 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ3 ผู้ประกอบการได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกัญชา สร้างรายได้

 

ขณะเดียวกันข้อมูลล่าสุด พบว่า กรมอนามัย ได้ออกแบบฟอร์มการประเมินร้านอาหาร เพื่อเตรียมลงทะเบียนร้านอาหารที่จำหน่ายเมนูกัญชา โดยผู้ประกอบการสามารถเข้าไปกรอกข้อมูล ชื่อร้าน ที่ตั้ง ใบอนุญาตการประกอบกิจการร้านอาหาร ป้ายมาตรฐานรับรองร้านอาหาร แหล่งวัตถุดิบกัญชาที่ได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

เมนูอาหาร วิธีการปรุงและใช้ส่วนประกอบกัญชาส่วนใดในอาหาร การเก็บรักษากัญชาที่ใช้ประกอบอาหาร รวมถึงคำเตือนและคำแนะนำสำหรับผู้บริโภค โดยข้อมูลเหล่านี้คาดการณ์เป็นการเก็บข้อมูลเบื้องต้น ก่อนที่จะมีการเปิดให้ขออนุญาตลงทะเบียนร้านอาหารอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ในเร็วๆนี้

ในวันนี้ การทำธุรกิจร้านอาหารที่เกี่ยวข้องกับ “กัญชา” ส่วนสำคัญที่สุดคือ การทำธุรกิจด้วยจริยธรรม และตามหลักเกณฑ์ที่มีอย่างถูกต้อง เช่น การใช้กัญชาที่มาจากแหล่งปลูกถูกต้อง การคิดและปรุงเมนูอาหารจากกัญชาที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะเชื่อว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจากกัญชา ที่จะสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน คือ ธุรกิจที่ยืนอยู่บนพื้นฐานจริยธรรม