ต่ออายุ SME ด้วย สินเชื่อ แฟ็กตอริ่ง


ภาคเอกชน นำโดยหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ยื่นขอเสนอต่อภาครัฐ และสมาคมธนาคารไทย เพื่อหาทางช่วยเหลือเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน ช่วยพยุงกิจการให้อยู่รอดจากวิกฤตโควิด- 19 โดยประเด็นหนึ่ง ที่มีความน่าสนใจ และน่าจะเป็นทางรอดที่รวดเร็วที่สุดของ เอสเอ็มอี คือ การขอปรับหรือพัฒนาหลักเกณฑ์การขอสินเชื่อแฟ็กตอริ่ง (Factoring) ให้ง่าย รวดเร็ว และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

สินเชื่อ แฟ็กตอริ่ง ถือเป็นเครื่องมือในการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่รวดเร็วกว่าสินเชื้ออื่นๆ แต่ปัจจุบันยังไม่ใคร่เป็นที่รู้จักมากนักโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

อธิบายรูปแบบเครื่องมือ แฟ็กตอรี่ ง่ายๆ คือ สินเชื่อประเภทนี้จะมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย 1.ผู้ให้บริการแฟ็กตอริ่ง ปัจจุบันมีอยู่กว่า 30 ราย ทั้งที่เป็นธนาคาร และ ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) 2. ผู้ใช้บริการ แฟ็กตอริ่ง หรือผู้ขายโอนสิทธิลูกหนี้ให้กับแฟ็กตอริ่ง และ 3.ลูกหนี้ทางการค้าของผู้ใช้บริการแฟ็กตอริ่ง

ทั้งนี้หลักการคือ ผู้ประกอบการซึ่งก็คือผู้ใช้บริการแฟ็กตอรี่ สามารถนำสัญญาสัมปทาน หรือ ใบแจ้งหนี้ มาขายสิทธิให้กับผู้ให้บริการแฟ็คตอรี่ง ในรูปแบบการโอนสิทธิทางการค้า โดยผู้ใช้บริการจะได้รับเงินจากผู้ให้บริการแฟ็กตอริ่งไปใช้จ่ายก่อน ในอัตราที่จะตกลงกัน ขณะที่ผู้ให้บริการแฟ็กตอริ่งจะทำหน้าที่เรียกเก็บหรือบริหารหนี้การค้ากับลูกหนี้ทางการค้าของผู้ใช้บริการแฟ็กตอริ่งแทน

หลักการแฟ็กตอริ่ง มีความคล่องตัวกว่าการขอสินเชื่อประเภทอื่นๆ เนื่องจากไม่ได้เน้นที่หลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ผู้ให้บริการแฟ็กตอริ่ง จะดูจากประวัติความน่าเชื่อถือของผู้ขายสิทธิ และ ลูกหนี้ทางการค้าของผู้ขายสิทธิ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ให้บริการแฟ็กตอริ่งปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะมีเงื่อนไขหรือพิจารณาเป็นพิเศษสำหรับลูกหนี้ทางการค้า ที่เป็นสัมปทานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ บริษัทมหาชน ซึ่งมีความเข้มแข็งทางการเงิน
อย่างไรก็ตามในมุมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แม้ว่า การขายโอนสิทธิลูกหนี้หรือการทำ แฟ็กตอริ่ง จะมีต้นทุนทั้งด้านดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม โดยรวมแล้วสูงกว่าการขอสินเชื้อในรูปแบบอื่นๆ แต่การใช้แฟ็กตอริ่ง ก็มีข้อดีคือ ไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ และ ยื่นขอได้รวดเร็วกว่าสินเชื้อหลายประเภท

ทั้งนี้ดังที่กล่าวไว้ว่า ที่ผ่านมาผู้ให้บริการแฟ็กตอริ่ง เน้นทำตลาดซื้อโอนสิทธิลูกหนี้ที่มีความมั่นคงทางการเงินสูง เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้บริการประเภทนี้ไม่ใคร่แพร่หลายมากนัก อีกอุปสรรคคือ ผู้ให้บริการแฟ็กตอริ่งค่อนข้างตรวจสอบยากว่า ผู้ขายโอนสิทธิลูกหนี้นั้น ได้ไปขายสิทธิให้สัญญาเดียวกันหนี้กับผู้ให้บริการอื่น กลายเป็นการซ้ำซ้อนหรือไม่

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดทำระบบ Digital Factoring Ecosystem ขึ้นมา เพื่อให้มีการตรวจสอบไม่เกิดการขายสิทธิซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นการแก้ไขอุปสรรคการพัฒนาสินเชื่อประเภทนี้ไปได้ระดับหนึ่ง

แต่ในมุมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้ว มองว่า การพัฒนาระบบสินเชื่อแฟ็กตอรี่ง ควรจะให้ความสำคัญกับหนี้การค้าที่กว้างขึ้น เช่น หากลูกหนี้ทางการค้านั้นมีประวัติการเงินที่ดี แม้จะการค้าที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่สัญญาภาครัฐ หรือบริษัทมหาชน ก็ควรที่จะปล่อยให้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้กว้างหรือครอบคลุมมากขึ้น

โดยขณะนี้มีข่าวว่าผู้ให้บริการ แฟ็กตอริ่ง หลายรายก็มีแนวคิดข้างต้น และพยายามยืดหยุ่นเงื่อนไขต่างๆลง เอสเอ็มอี ที่ต้องการเสริมสภาพคล่องในช่วงนี้ ลองติดต่อกับผู้ให้บริการดู อาจจะเป็นทางรอดอีกทางหนึ่งในช่วงนี้ หาข้อมูลเพิ่มเติม https://thaifactors.or.th/