ThailandFuture (สถาบันอนาคตไทยศึกษา) วิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์แนวโน้มของอนาคตและทำหน้าที่เป็น ‘ตัวเร่ง-ตัวรวม’ ทรัพยากร ข้อมูล จากเหล่าผู้พิทักษ์อนาคตไทย ทุกเพศทุกวัย จากทุกสาขาอาชีพ ทุกขั้วความคิด เพื่อค้นทางออกนโยบายของประเทศรูปแบบใหม่
ได้ปรับตัวสู่ ‘ThailandFuture Policy Platform’ แพลตฟอร์มนโยบายตัวกลางที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อหลักฐานเชิงข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้รับนโยบาย นักวิชาการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ากับหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ออกแบบและขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อผลักดันให้เกิดกระบวนการ ‘ร่วมคิด-ร่วมทำ’ นโยบายรูปแบบใหม่ ที่เปิดกว้าง กระจายอำนาจ โปร่งใส และอิงวิทยาศาสตร์มากขึ้น สู่อนาคตไทยที่สดใสกว่า
ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการแห่ง ThailandFuture เล่าว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ ‘ไฟแห่งปัญหา’ รอบทิศทาง ทำให้การเติบโตชะลอลง เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงความท้าทายที่รอวันลุกไหม้จากเทรนด์คุกคามอีกมากมาย เช่น ความไม่พร้อมต่อการไปสู่สังคมสูงวัย การมาของ automation การผงาดขึ้นของจีน และภาวะโลกร้อน
“ปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าประเทศไทยมีทรัพยากรไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ คนที่มีความสามารถเรามี ทุนเราก็มี เพียงแค่อยู่ไม่ถูกที่ถูกเวลา อยู่ภายใต้ระบบการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพ ความชัดเจน และเต็มไปด้วยความสับสน”
เพื่อการจัดสรรและบริหารทรัพยากรเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม จึงเสนอแนวคิด ‘ไตรลักษณ์นโยบายอนาคต’ ที่ ThailandFuture ขออาสานำมาประยุกต์ใช้ช่วยพาไทยรอดพ้นวิกฤตและเท่าทันโลกยุค VUCA จากแนวทางดังนี้
1. กระบวนการคิดการทำนโยบายต้องเปิดกว้างและเชื่อมต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น เป็นการ ‘ปลดล็อก’ ห้องออกแบบนโยบายแล้วเชื่อมต่อมันเข้ากับประชาชน ท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่นโยบาย (Policy Chain) ให้ทุกฝ่ายกระจ่างถึงปัญหา ข้อจำกัด รวมถึงร่วมกันสังเคราะห์ทางออกและนวัตกรรมนโยบายใหม่ ๆ
อย่างล่าสุด ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พัฒนานวัตกรรมนโยบายเมืองปลอดภัย (Safe City) โดยใช้เทคนิคทั้งการมองภาพอนาคต (Foresight) การใช้การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และการทำงานแบบสตาร์ทอัพ พร้อมพัฒนาระบบที่เปิดให้ประชาชนสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ การพัฒนาความเชื่อใจของประชาชนกับตำรวจผ่านนโยบายตำรวจบ้านหรือตำรวจประจำชุมชน การใช้เทคโนโลยี 4.0 มาใช้ในงานภาคสนาม ไปจนถึงการพัฒนาด่านตรวจให้โปร่งใสและเป็นมิตรกับประชาชน
2. ภาครัฐต้องกระจายอำนาจในการพัฒนาอนาคตประเทศไปสู่ ‘โหนด (Node)’ ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งอำนาจการคลัง อำนาจในการเข้าถึงข้อมูล และอำนาจในการออกแบบนโยบายบางส่วนออกมาจากส่วนกลางบ้าง ทั้งภายในภาครัฐเอง และภายนอก จากบนสู่ล่าง จากผู้ใหญ่สู่คนรุ่นใหม่ จากระดับประเทศสู่ระดับท้องถิ่น เพื่อเร่งกระจายอำนาจออกไปสู่บุคคลและหน่วยงานรวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานด้วยความชัดเจนและโปร่งใส ให้เกิดความคล่องตัวพอที่จะนำประเทศไทยให้รอดพ้นไปจากวิกฤตครั้งนี้
3. ประเทศไทยจะต้องคิด-ทำนโยบายอย่าง ‘เป็นวิทยาศาสตร์’ มากขึ้น เลิก candle-driven แล้วหันมาอิงหลักฐานเชิงข้อมูลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มเก็บฐานข้อมูลโดยคำนึงถึงการวัดผลในอนาคต การทำการทดลองพฤติกรรมศาสตร์ การดำเนินนโยบายบนหลักฐาน การใช้เทคนิคห้องปฏิบัติการอนาคตเพื่อรังสรรค์แนวทางและนวัตกรรมนโยบายใหม่ๆ ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลงพื้นที่ทำ Prototype จากนั้นปรับปรุงแล้วนำไปขยายผลต่อ เพื่อให้นโยบายในอนาคตมีประสิทธิผล คุ้มเงินภาษี และคุ้มเวลาที่เสียไปกว่าเดิม
ในการเดินทางครั้งนี้ ThailandFuture ได้เริ่มร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อดำเนินงานและพัฒนาผลักดันแนวคิดนี้ ผ่านกรอบ 5 ประเด็นเชิงนโยบายที่มุ่งเน้น ได้แก่ 1. เทคโนโลยีกลุ่มแนวหน้า (Frontier Technologies) 2. เครื่องยนต์ใหม่ในการพัฒนาประเทศ (New Growth Engine) 3. การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) 4. การปฏิรูปภาครัฐ (Government Transformation) และ 5. สิทธิและโอกาส (Rights & Opportunities) ซึ่ง ThailandFuture จะดำเนินงานผ่าน 4 รูปแบบต่อไปนี้
• ThailandFuture Policy Platform: พื้นที่ทางความคิดและการลงมือทำของนโยบายสาธารณะ ช่วยผสานให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันและผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง
• ThailandFuture Playbook: ‘คู่มือการแก้ปัญหา’ แบบ System-thinking และ Solution-driven ที่เข้าใจง่ายและอัพเดทเวอร์ชันอยู่เสมอเหมือนซอฟต์แวร์ ช่วยวัดผลกับปัญหาได้จริง
• ThailandFuture Talks: ชวนทุกคนมาพูดคุยภาษานโยบายเกี่ยวกับคุณ ให้เข้าใจและเข้าถึงง่าย บนการตั้งคำถามในมุมมองที่สดใหม่ กับเรื่องราวชวนพัฒนาประเทศ และเปิดโลก
• ThailandFuture Upgrades: อัพเกรดการออกแบบและขับเคลื่อนนโยบาย ผ่าน Workshops ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven Policy) และ ด้าน Foresight & Policy Labs เพื่อติดอาวุธการทำงานให้กับองค์กรภาครัฐ