ต้องปรับตัวอย่างไร เมื่อต้องเข้าสู่โหมดการล็อกดาวน์อีกครั้ง


จากการประกาศของศบค.ที่ผ่านมาไม่นาน ทำให้ธุรกิจรายย่อยเป็นจำนวนมากต่างต้องปรับตัวกับคำสั่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้จะได้รับสัญญาณเตือนมาล่วงหน้า แต่นั่นก็ยังดูกระทันหันเกินไปเมื่อเทียบกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา


.

และเมื่อมีประกาศออกมาแบบนี้ ธุรกิจที่เรียกได้ว่าโดนก่อนตลอดจะเป็นใครไปไม่ได้หากไม่ใช่ SMEs เพราะถือว่าเป็นฐานที่มีผู้ประกอบการรายย่อยอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้แรงกระแทกที่ส่งมาถึงเกิดเป็นแรงกระเพื่อมไปวงกว้างทุกหย่อมหญ้า


.


วันนี้เราเลยจะขอเสนอแนวทางการปรับตัวสำหรับธุรกิจ SMEs เมื่อต้องเข้าสู่โหมดการล็อกดาวน์

.


  • ผู้ประกอบการควรวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ ว่าได้รับความเสียหายขนาดไหน เมื่อต้องเปลี่ยนแปลงกระทันหัน เกิดปัญหาอะไรบ้าง มีหนทางไหนที่จะแก้ไขได้เร็วสุด ภายใต้ข้อจำกัดที่เหลืออยู่

.

  • ต้องกำหนดเป้าหมายใหม่ทันที หากว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วกระทบต่องานของเราโดยตรง หาช่องโหว่แล้วรีบหาทางแก้ จัดลำดับขั้นตอนให้ชัด เพราะจังหวะชุลมุน คนที่เห็นทางข้างหน้าชัดเจนจะมีโอกาสเพื่อน

.

  • ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มาอยู่ในโลกดิจิทัลได้ไหม ถ้าได้ ช่องทางไหนเหมาะกับธุรกิจของเรา พยามมองหาความเป็นไปได้ใหม่จากแบบเดิมที่เคยทำ หากทำอยู่แล้วก็รักษามาตรฐานไว้ เพื่อประคองส่วนแบ่งที่ยังเหลืออยู่

.

  • ถ้าไม่ถนัดงานดิจิทัล พยามหาเครือข่ายธุรกิจที่มีความรู้ในสายนี้อยู่แล้วมาช่วยเหลือ ซึ่งอาจจะกำหนดข้อตกลงที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ในสถานการณ์แบบนี้ ช่วยพยุงกันและกันให้รอด

.

  • ดึงจุดเด่นของทีมงานที่แต่ละคนมีมาใช้ในการสนับสนุนธุรกิจ และหากมองว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว พยามเริ่มจากสิ่งเล็กๆที่อยู่ใกล้ตัวเราก่อน จากช่องทางที่เราพอจะยังใช้ประโยชน์ได้ อาจจะเจอเครื่องมือใหม่ที่แตกต่างและได้ผลลัพท์ที่เกินคาด

.

  • พยามให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบด้วยการนำวิธีที่พวกเขาคิดว่าได้ผลมาปรับใช้ เพื่อสร้างการยอมรับและพร้อมจะก้าวเดินไปกับเจ้าของธุรกิจ ยิ่งในเวลาแบบนี้ ลูกน้องที่พร้อมร่วมหัวจมท้ายไปกับเจ้าของ ถือเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายควรตั้งเป้าหมายร่วมกันให้มั่นคงกว่าแต่ก่อน

.

  • Service Mind มีส่วนสำคัญ ภาวะแบบนี้หลายธุรกิจปรับตัวมาขายของบนแพลตฟอร์มออนไลน์กันส่วนใหญ่ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องดูแลฐานลูกค้าหน้าใหม่ ให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด และที่สำคัญคือการรักษาฐานลูกค้าเดิม เพราะการสร้าง Brand loyalty มีส่วนอย่างมากที่จะเกิดการบอกต่อ และคงปริมาณยอดขายเอาไว้

.

  • สลัดความตื่นตระหนกหรือความท้อแท้สักพัก แล้วออกมายืนมองจากกรอบเดิมที่วางไว้ อาจจะทำให้เห็นปัญหาและหนทางแก้ไขได้ง่าย เพราะช่วงคลุกวงในจะเกิดการแย่งชิงตลาดกันฝุ่นตลบ เมื่อพร้อมแล้วก็กระโดดใส่มันอีกครั้ง

.

  • พยามหาจุดโหว่ที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหมู่พนักงาน แล้วรีบหาทางแก้ปัญหาที่จะเกิด เพราะหากเสียกลไกหลักที่มีประสบการณ์ไปแล้ว คงจะเกิดปัญหาตามมาอีกเป็นขบวน และคงไม่ดีต่อธุรกิจแน่ ถ้าต้องหยุดการทำงานแบบกระทันหัน

.

  • หาวิธีจัดการกับความเครียดทั้งแก่ตนเองและผู้ร่วมงาน เพราะในเวลาแบบนี้ ทุกครอบครัวต่างได้รับผลกระทบในแบบของตัวเองกันทั้งนั้น ซึ่งนั่นก็จะเป็นส่วนผสมทำให้มีผลต่อการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งวิธีที่ง่ายและทำได้ทันทีคือการพูดคุยและรับฟังเรื่องราวของพวกเขา และหากเจอสัญญาณไม่ดี ควรเตือนหรือแจ้งให้เข้ารับการปรึกษาจากหน่วยงานกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุขในทันที