นับถอยหลัง 90 วัน เปิดประเทศ “วัคซีน” อาวุธสำคัญ ควบคู่กับ “การเยียวยา”


ผ่านไปแล้ว 1 เดือน หรือ 30 วัน กับเป้าหมาย “การเปิดประเทศใน 120 วัน” กระชั้นใกล้เข้ามาทุกทีกับเวลาที่เหลืออีก เพียง 90 วัน ท่ามกลางสถานการณ์การ “เคอร์ฟิว” และ “ล็อกดาวน์” 10 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 14 วัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 12 ก.ค.64 ที่ผ่านมา แต่กระนั้นก็ยังพบว่า จำนวนตัวเลขของผู้ป่วยโควิดยังคงสวิงและเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกือบจะถึงหลักหมื่นราย

แล้วจะทำอย่างไรให้สังคมและเศรษฐกิจสามารถประคับประคองและรอดพ้นวิกฤตไปได้ โดยมีความคิดเห็นที่น่าสนใจจากนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ภายในงานสัมมนา NATION VIRTUAL FORUM : Thailand Survival Post Covid-19 ตอน วัคซีนโควิด ฟื้นเศรษฐกิจไทย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมาดังนี้

 

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวถึงการเปิดประเทศใน 120 วันของรัฐบาล ว่า เป้าหมายการเปิดประเทศภายใน 120 วันนั้น สิ่งสำคัญอันดับแรกที่การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้ใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์” จำกัดการเคลื่อนไหวของคน และกิจกรรมการพบปะของบุคคล ซึ่งเท่ากับการจำกัดการแพร่ระบาดของโควิดจากคนสู่คน ซึ่งตามหลักทฤษฎีหากไม่มีการเคลื่อนไหวดังกล่าว การแพร่ระบาดก็ควรจะลดลงตามไปด้วย พร้อมกับมาตรการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้ได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ยังต้องมีปัจจัยอื่นประกอบด้วย คือความสามัคคี ความมีระเบียบวินัย และการให้ความร่วมมือของประชาชน

 

ข้อเท็จจริง คือ เราได้วัคซีนแบบทยอยมา การจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 70% จึงทำได้ไม่ง่าย นอกจากนี้ การที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อได้ง่ายกว่า ไวกว่า ก็เป็นอีกตัวแปรที่ทำให้ต้องมีวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันไปได้อีกระดับ อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนจะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ ซึ่งเมื่อได้พบเจอคนที่ติดเชื้อเป็นบวก ก็ไม่ต้องกักตัวแล้ว แต่ยังอาจเป็นพาหะนำเชื้อไปติดคนอื่นๆได้อยู่ จึงยังต้องมีความระมัดระวัง

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ควรต้องมีความหลากหลายของวัคซีนเพื่อรับมือโควิดสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก เพราะแต่ละคนอาจแพ้วัคซีนหรือมีอาการข้างเคียงต่อวัคซีนที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรมีวัคซีนที่หลากหลายเป็นทางเลือกสำหรับประชาชน ยิ่งมีหลายชนิด ยิ่งมาก ก็ยิ่งดีสำหรับการบริหารจัดการวัคซีน

 

ด้าน ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การระบาดระลอกใหม่ มีความซับซ้อนยิ่งกว่าเดิมเพราะเป็นการติดเชื้อของคนในบ้านหรือสมาชิกครอบครัวเดียวกันมากขึ้น ดังนั้นการ “ล็อกดาวน์” งดเดินทางให้อยู่บ้าน จึงอาจจะไม่ใช่มาตรการที่ตรงจุดนัก โดยรัฐควรเร่งเพิ่มการตรวจเชื้อโควิดให้กับประชาชน ทำให้การตรวจ Rapid Test สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งในช่วงแรกอาจพบตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เช่นเดียวกันตามทฤษฎีเมื่อล็อกดาวน์แล้ว สถานการณ์น่าจะดีขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลา

 

ขณะที่ รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ และ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่า สภาพของเศรษฐกิจไทย ที่จำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว เป็นหลัก เราจึงคาดหวังเรื่องของการ “เปิดประเทศ” ไว้สูงสุด เนื่องจากที่ผ่านมาเรามีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากจำนวน 40 ล้านคน/ปี ถึง 2 ล้านล้านบาท สามารถสร้างงานให้คนไทยในภาคธุรกิจที่เชื่อมโยงกันได้กว่า 7 ล้านคน/ปี

 

ดังนั้นแนวทางที่ดีที่สุดคือ การลดเชื้อในประเทศให้ได้ การควบคุมโรค และเร่งฉีดวัคซีนจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในขณะเดียวกันการมีคำสั่ง “ล็อกดาวน์” ทำให้ประชาชนก็ต้องระวัง และ “ล็อกดาวน์” ตัวเองด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจมีผลกกระทบ ภาคระฐจึงอาจจะต้องเติมเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ บ้างเช่นกัน

 

การเร่งฉีดวัคซีนจะช่วยได้อีกทาง เพราะจะทำให้ชีวิตกลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น เช่น การเดินทางท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย ทำกิจกรรมนอกบ้าน ฯลฯ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวโดยไม่ต้องรอนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ รัฐควรใช้ประสบการณ์ในการเยียวยาแต่ละรอบจากที่ผ่านมา กำหนดมาตรการการเยียวยาที่ชัดเจน และตรงจุดเฉพาะที่กลุ่มคน หรือพื้นที่ที่กระทบ ไม่ใช่ทั้งหมด โดยเยียวยา เป็นระยะควบคู่กับการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมเร็วที่สุด

 

ขณะที่การประเมินจากTDRI โดย นายนณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส กล่าวถึงสถานการณ์ของประเทศไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้าว่า สถานการณ์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากวันนี้ เพราะเรายังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้มากพอ ขณะที่ต้นทุน กำลังร่อยหรอ และโควิด-19 กำลังสร้างบาดแผลให้กับประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงาน และกลุ่มที่กำลังจะเป็นแรงงานในอนาคต

 

สำหรับกลุ่มกำลังแรงงานที่กล่าวถึง จากข้อมูลพบว่า กลุ่มที่ 1.เด็กประมาณ 700,000 คน ที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน จากผลพวงผลกระทบของโควิด-19 

2.กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ที่มีส่วนหนึ่งว่างงานอยู่แล้ว เมื่อเผชิญกับสถานการณ์นี้จึงทำให้งานหายากขึ้น หรือ หางานได้แต่ไม่ได้ใช้ศักยภาพได้เต็มประสิทธิภาพ

 

และ 3 กลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบและตกงานเพิ่มขึ้น จากข้อมูลเดิมคือ 300,000 – 400,000 คน/ปี กลายเป็น 700,000 – 800,000 คน/ปี ในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอายุหรือกลุ่มผู้พิการ ที่หลุดวงโคจรจากตลาดแรงงาน ไปโดยปริยาย เพราะ เมื่อตกงานแล้ว โอกาสที่กลับเข้ามาทำงานได้ใหม่เป็นเรื่องที่ยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เราพบว่า มาตรการเยียวยาของรัฐที่ออกมานั้น ต่างสร้างความพอใจและไม่พอใจให้กับผู้ได้รับผลกระทบ โดยการเยียวยา ผ่านฐานข้อมูลประกันสังคม ของผู้ประกันตน ในเฉพาะพื้นที่ 10 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) อาจสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่อื่นๆ แต่ก็มีความสอดคล้องกับความคิดเห็นของนักวิชาการ ที่จะต้องเลือกพื้นที่เป้าหมายให้ตรงจุด

 

นอกจากนี้ยังมีมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และธนาคารทุกแห่งทั่วประเทศ อาจะพอช่วยประคับประคอง และลดภาระของผู้ประกอบการและประชาชนได้ในระดับหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตามโดยสรุปสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญหยุดโรคร้ายอย่างโควิด-19 ไปพร้อมกับการใช้มาตรการเยียวยาอย่างตรงจุด และกลุ่มเป้าหมาย เพราะอย่าลืมว่ายิ่งปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อ เราจะยิ่งสูญเสียในทุกๆด้าน ที่สำคัญคือการสูญเสียกระสุนอย่าง “เม็ดเงินงบประมาณ” ที่ไม่อาจใช้อย่างหว่านแหได้อีกแล้ว