ไม่ใช่เรื่องตลก แม้ว่าตอนเขียนบทความนี้ผมจะแอบยิ้มอยู่ในช่วงแรกๆ ที่ได้อ่านงานชิ้นนี้จากต่างประเทศ ก่อนตัดสินใจหยิบเอาข้อมูลมาแปลให้ผู้อ่านที่สนใจงานด้านพลังงานได้ใช้เป็นอาหารว่างให้กับสมองสำหรับวันเสาร์
มันคือเรื่องจริง เพราะมีนักวิทยาศาสตร์ไปวิเคราะห์เอากับปัสสาวะ และดึงเอาคุณสมบัติที่โดดเด่นจากปัสสาวะมาใช้เป็นปุ๋ยเลี้ยงพืช และพวกเขาหวังผลถึงขนาดจะใช้ปัสสาวะนี่แหล่ะ สร้างประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมในระดับ “เมือง” ให้มากยิ่งขึ้น
แต่แน่นอนว่า มันไม่ใช่การดึงเอาปัสสาวะจากคนๆ เดียวมาเพื่อสร้างประโยชน์ แต่มันจะต้องเป็นปริมาณของปัสสาวะอย่างมหาศาล หากจะเอามาสร้างประโยชน์ ดึงพลังงานกลับมาใช้ และสร้างผลดีต่อสิ่งแวดล้อม
ในรายละเอียดของงานชิ้นนี้ ต้นตำรับความคิดและการใช้หลักวิทยาศาสตร์มาจากคณะนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา พวกเขาใช้ช้เทคนิคการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (LCA) ซึ่งเป็นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม เพื่อเปรียบเทียบการแยกปัสสาวะส่วนกลางขนานใหญ่และแหล่งผลิตปุ๋ย กับโรงงานบำบัดน้ำเสียแบบดั้งเดิมและการผลิตปุ๋ยสังเคราะห์ที่ใช้ทรัพยากรที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
การศึกษาพบว่าการแยกและรีไซเคิลปัสสาวะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้งานพลังงาน และการบริโภคน้ำจืดในปริมาณมหาศาล ทั้งยังอาจช่วยเพิ่มปริมาณสาหร่ายในทะเลสาบและแหล่งน้ำอื่นๆ โดยอัตราการลดลงอยู่ที่ราวร้อยละ 26-64 ตามแต่ละประเภท
“การแยกปัสสาวะอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าระบบดั้งเดิม” สตีเฟน ฮิลตัน ผู้เขียนหลักจากคณะสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยฯ ระบุ “ผลการวิเคราะห์บ่งชี้ผลประโยชน์ที่ชัดเจนอันได้แก่ การลดหลักเกณฑ์จัดการน้ำเสีย หลีกเลี่ยงการผลิตปุ๋ยสังเคราะห์ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการเก็บสะสม แปรรูป และขนส่งน้ำปัสสาวะ ซึ่งเป็นเหตุผลให้เราพยายามพัฒนาระบบนี้ต่อไป”
การศึกษาฉบับนี้เป็นงานวิจัยแรกที่แจกแจงรายละเอียดของกระบวนการบำบัดน้ำเสียประเภทต่างๆ เพื่อให้นักวิจัยสามารถเปรียบเทียบปริมาณพลังงานและสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการแต่ละประเภทได้
“นี่เป็นการวิเคราะห์เชิงลึกครั้งแรกเกี่ยวกับผลกระทบและผลประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมของการนำปัสสาวะมาใช้ประโยชน์ขนานใหญ่ นอกเหนือจากการบำบัดน้ำเสียแบบดั้งเดิมและการผลิตปุ๋ย” เกร็ก เคโอเลียน ผู้เขียนอาวุโสและผู้อำนวยการศูนย์ระบบยั่งยืนของคณะสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนประจำมหาวิทยาลัยฯ กล่าว
การแยกปัสสาวะเพื่อฟื้นฟูและรีไซเคิลไนโตรเจนและฟอสฟอรัสได้รับการสนับสนุนให้เป็นวิธีพัฒนาความยั่งยืนของระบบจัดการน้ำและผลิตอาหาร วิธีนี้อาจลดปริมาณพลังงานและสารเคมีที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย พร้อมลดปริมาณสารอาหารและเชื้อเพลิงที่ส่งผลเสียต่อการเติบโตของสาหร่ายในทะเลสาบ
ปัสสาวะมีสารอาหารที่จำเป็นหลายตัว อาทิ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ซึ่งมนุษย์ใช้เป็นปุ๋ยพืชมานานหลายพันปี โดยช่วงหลายปีที่ผ่านมา คณะผู้เชี่ยวชาญมากมายศึกษาการรีไซเคิลปัสสาวะเพื่อเป็นหนทางผลิตปุ๋ยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมลดปริมาณพลังงานและสารเคมีที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย
อ้างอิง
สำนักข่าวซินหัว