จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พบว่า จีน คือประเทศที่มีการปลูกกัญชงใหญ่ที่สุดในโลก คือมีพื้นปลูกประมาณร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งของการการปลูกทั้งหมดของโลก ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่า ในปี 2562 จีนมีพื้นที่เพาะปลูกกัญชง ประมาณ 143,750 ไร่ และพบว่าจีนแทบจะไม่มีการนำเข้าและส่งออกกัญชง
นอกจากนี้ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา สถาบันควบคุมอาหารและยาแห่งชาติ (NIFDC) รัฐบาลจีน ออกมาตรการห้ามการใช้กัญชา และสารสกัดกัญชา รวมถึงการห้ามใช้ cannabidiol (CBD) ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีอยู่ทั้งกัญชาและกัญชง ในเครื่องสำอางทั้งหมด
กรณีนี้ยิ่งเป็นการจำกัดตลาดส่งออกไปยังประเทศจีนจนแทบจะไม่มีความเป็นไปได้ ทำให้ตลาดส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์กัญชงของไทย ต้องเบนเข็มไปยัง ญี่ปุ่น ประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกา
ดังนั้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สพว. เตรียมที่จะยกระดับการศึกษาวิจัย “กัญชง” เพื่อนำไปสู่การผลิตที่ไม่ใช่เพียงแค่การใช้ทางการแพทย์ หรืออุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เส้นใยเพื่อผลิตเป็นสิ่งทออีกต่อไป
โดยการกัญชงอย่างครบวงจรนี้ มีความคาดหวังว่าจะสามารถนำเอาองค์ความรู้เหล่านี้มาใช้ต่อยอดให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ เพื่อใช้ในเชิงสาธารณะและเชิงพาณิชย์ได้ ผ่านการแปรรูปสร้างมูลค่าใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่
.
กลุ่มเวชภัณฑ์ยา,กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง,กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและอาหารเสริม (Super Food),กลุ่มผลิตภัณฑ์กระดาษ,กลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอเสื้อผ้า,กลุ่มผลิตภัณฑ์นิรภัย,กลุ่มก่อสร้างและวัสดุภัณฑ์,กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์,กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี เช่น ซูเปอร์คาพาซิเตอร์ (Super Capacitor) เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve กับความหวังการสร้าง Hemp Economy หรือ กัญชงพืชเศรษฐกิจแสนล้าน
ซึ่งขณะนี้ เบื้องต้น สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่ม.นเรศวร ในโครงการการวิจัยและพัฒนากัญชง เพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ประกอบด้วย การทดลองปลูกกัญชงในโรงเรือนระบบปิด การศึกษาวิจัยข้อมูลด้านประสิทธิภาพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชง
ขั้นต่อมาคือการทำให้การปลูกกัญชง เป็นอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการวิจัยต้นทุนตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือ/เครื่องทุ่นแรงในการเก็บเกี่ยว การวิเคราะห์ปริมาณสาร CBD THC ที่เหมาะสมของกัญชงในการทำเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ และขยายการศึกษาวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จากแกน ลำต้น เมล็ด และเส้นใยในเชิงอุตสาหกรรม อาหาร เวชสำอาง และการแพทย์
“ที่ผ่านมา สพว. ได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ สวพส. พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่ เพื่อยกระดับฐานการผลิต “กัญชง” สู่ระดับอุตสาหกรรม คลัสเตอร์กัญชง การบริหารจัดการซัพพลายเชน และการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจในการต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ การลงทุนในระดับกลางน้ำจนถึงปลายน้ำ เทคโนโลยีการแปรรูปกัญชง จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาต่างๆ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถยกระดับเทคโนโลยีในระดับกลางน้ำ เพื่อให้ได้วัตถุดิบเข้าสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำในสาขาต่างๆ” นายธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) กล่าว
แน่นอนว่าหากมีการวิจัยและศึกษา “กัญชง” อย่างจริงจัง รวมทั้งการนำเอาการวิจัยจากต่างประเทศ (ซึ่งศึกษาวิจัยเรื่องกัญชง-กัญชามาหลายสิบปี) มาปรับใช้ให้มีรูปแบบความเหมาะสมกับพื้นฐานการผลิตและแปรรูปในประเทศของผู้ประกอบการไทยแล้ว โอกาสที่ผู้ประกอบไทยจะสามารถเป็นซัพพลายเชน ให้กับอุตสาหกรรมขั้นสูงนั้นย่อมมีความเป็นไปได้