ปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศผู้ผลิตรองเท้าที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากจีนเพียงเท่านั้น สถิติจากกรมศุลกากรเวียดนามเปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี2564 การส่งออกรองเท้าของเวียดนามมีมูลค่า 8,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5 คิดเป็นร้อยละ 6.4 ของรายได้จากการส่งออกสินค้าทั้งหมดของประเทศ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
.
สหรัฐยังคงเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่าการส่งออก 3,350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามมาด้วยสหภาพยุโรป 1,920 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจีน 830.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
.
กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ระบุว่า อุตสาหกรรมรองเท้าเติบโตอย่างน่าประทับใจ เนื่องจากได้ใช้ประโยชน์ จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป – เวียดนาม (EVFTA) ในช่วงไตรมาสแรกของปี2564 อัตราผลิตภัณฑ์รองเท้าที่ได้รับใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป อยู่ที่ร้อยละ 99
.
.
แบรนด์รองเท้าเจ้าใหญ่ของโลกที่ผลิตในเวียดนาม
.
Nike
เมื่อปี 2020 ไนกี้ได้ฉลองครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้งในเวียดนาม และนี่นับเป็นฐานการผลิตที่สำคัญที่สุดของไนกี้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของไนกี้กว่า 50% ถูกผลิตขึ้นในเวียดนาม และยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มอัตราพร้อมคุณภาพของแรงงานในเวียดนามที่มีส่วนช่วยให้แบรนด์ชุดกีฬาระดับโลกนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งนั่นก็ช่วยให้แรงงานในเวียดนามได้รับอานิสงค์นี้
.
Adidas
Adidas ลดจำนวนรองเท้าที่ผลิตในจีนลงครึ่งหนึ่ง โดยย้ายฐานการผลิตรองเท้าไปเวียดนามเป็นจำนวนมาก เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งความเป็นจริง ในปี 2008 รองเท้า Adidas ประมาณ 30% ก็ได้เริ่มถูกผลิตในเวียดนามแล้ว และอีกประมาณ 45% ยังคงผลิตในประเทศจีน
.
Puma
ในปี 2550 เริ่มธุรกิจการจัดหาและพัฒนาของ PUMA ในเวียดนาม ตั้งแต่รองเท้าไปจนถึงเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์กีฬาและไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายผ่านสำนักงาน PUMA ในโฮจิมินห์ เมื่อเวลาผ่านไปปัจจุบัน ชุดกีฬาของ Puma ประมาณ 35% ผลิตในเวียดนาม และ Puma กำลังเพิ่มกำลังการผลิตทุกปี
.
Converse
รองเท้าผ้าใบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะอย่าง Converse ก็เป็นอีกหนึ่งเจ้าที่มีฐานการผลิตอยู่ในเวียดนามนานแล้ว และยังคงใช้ซัพพลายเออร์ท้องถิ่นในประเทศเวียดนาม เช่นส่วนประกอบที่เป็นยาง สำหรับส่วนประกอบพื้นรองเท้า การผลิตรองเท้า Converse ทั่วโลกจะเท่ากับ 40% ซึ่งที่เหลืออยู่ในเวียดนามนี่เอง
.
Skechers
เป็นอีกแบรนด์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของพื้นรองเท้าที่ให้สัมผัสเบานุ่ม เป็นที่นิยมของคนรักกีฬาและสุขภาพ ระบบนี้จะช่วยรองรับแรงกระแทกเป็นพิเศษ ซึ่งนวัตกรรมนี้เอง ที่มีต้นกำเนิดในเวียดนามและนำไปสู่การผลิตทั้งหมด 35% จากเวียดนาม
.
.
อุตสาหกรรมรองเท้าที่ขยายใหญ่ขึ้น
ตลาดอุตสาหกรรมรองเท้านับได้ว่าเป็นชิ้นส่วนสำคัญ ซึ่งเป็นอันดับสองในภาคการผลิตของเวียดนาม รองจากเครื่องจักรไฟฟ้า แนวโน้มในปัจจุบัน นับได้ว่าเวียดนามมีศักยภาพการเติบโตที่แข็งแกร่งเป็นอย่างมาก เห็นได้จากแบรนด์รองเท้าขนาดใหญ่ ที่ได้ย้ายการผลิตไปยังเวียดนามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมานั่นเอง
.
และไม่ใช่แค่รองเท้าผ้าใบเพียงอย่างเดียว
เวียดนามยังผลิตรองเท้าลำลอง ด้วยศักยภาพในการผลิตที่หลากหลายเป็นทุนเดิม นอกจากนี้ รองเท้าแฟชั่นสตรียังถูกผลิตขึ้นในเวียดนาม โดยมีแบรนด์ต่างๆ เช่น M&S, Asos, Aldo และ Next
.
ข้อได้เปรียบของตลาดรองเท้าเวียดนาม
แม้ว่าเวียดนามจะมีขนาดเล็กกว่าจีนมาก แต่เวียดนามก็มีภาคการผลิตที่กว้างขวางและมีประสบการณ์ในการส่งออก อัตราค่าแรงของตลาดแรงงานยังคงต่ำ ประกอบกับมีวัตถุดิบและความรู้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ที่สำคัญรัฐบาลได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อสร้างประสิทธิภาพในด้านการขนส่ง นอกจากนี้ยังมีผลประโยชน์ จาก ข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนามของยุโรป ที่ดึงดูดใจมากยิ่งขึ้น
.
ความยั่งยืนที่มาพร้อมนวัตกรรมในอุตสาหกรรมรองเท้า
แน่นอน ความยั่งยืนเป็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค และเช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมรองเท้าในเวียดนาม อันที่จริง แบรนด์รองเท้าเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้เทคนิคการรีไซเคิลและเทคนิคการย่อยสลายทางชีวภาพตลอดจนแนวคิดเรื่องจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในระดับการผลิต บ่อยครั้ง วัตถุดิบที่ยั่งยืนกว่ามีราคาสูงกว่าแม้ว่าผู้บริโภคจะเต็มใจจ่ายส่วนเพิ่มนี้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโรงงานในเวียดนามที่เน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
.
.
มูลค่าตลาดรองเท้าในเวียดนาม และการคาดการณ์ในอนาคต
รายงานอ้างอิงข้อมูลสื่อของเวียดนาม ระบุว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 เวียดนามเกินดุลการค้า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากทั้งการส่งออกและการนำเข้า โดยมีข้อมูลจากสำนักงานสถิติของเวียดนามระบุว่า การส่งออกของเวียดนามช่วง 2 เดือนแรกปี 2564 มีมูลค่า 48,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยการส่งออกมาจากการลงทุนของต่างชาติ (FDI) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76.4 โดยตลาดส่งออกของเวียดนาม ได้แก่ สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป อาเซียน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น โดยอุตสาหกรรมรองเท้า มีอัตราการส่งออกอยู่ที่ 16,791 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.3 จากปีก่อน เหตุอันเนื่องมาจากภาวะโรคระบาด
.
ค่า RCA ของเวียดนามน่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะหมวดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รองเท้า และเครื่องนุ่งห่ม จากผลของความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรปและเวียดนามที่เริ่มบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 ซึ่งช่วยลดภาษีสินค้าให้เหลือ ร้อยละ 0 จากอัตราภาษีเดิม (หมวดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 0 – 14 หมวดรองเท้าร้อยละ 3 – 8 และหมวดเครื่องนุ่งห่มร้อยละ 0 – 20) ภายในระยะเวลา 4 – 8 ปี ตามความอ่อนไหวของประเภทสินค้าแต่ละประเภท
.
ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงจากเพื่อนบ้านอย่างจีน ฐานการผลิตของเวียดนามจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับความพร้อมของวัตถุดิบในท้องถิ่นและซัพพลายเออร์อุปกรณ์เสริม ผู้ประกอบการรองเท้าในประเทศต้องต่อสู้เพื่อการพัฒนาตนเอง เปลี่ยนรูปแบบการผลิต ลงทุนในอุปกรณ์และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ในขณะที่ต้องรวมพลังกันอย่างแข็งขันเพื่อเข้าร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
.
แม้ว่าบางประเทศสามารถผลิตรองเท้าได้ในราคาที่ถูกกว่า (เช่น บังคลาเทศ อินเดีย ฯลฯ) กระนั้นผู้ผลิตก็ยังคงเลือกเวียดนามเนื่องจากมีกำลังการผลิตสูง คุณภาพของผลิตภัณฑ์มีมาตรฐาน และระบบโลจิสติกส์ที่มีท่าเรือติดแนวชายฝั่งแปซิฟิก รวมไปถึงความใกล้ชิดกับประเทศจีน อันเป็นประโยชน์อีกประการหนึ่งเนื่องจากช่วยให้ซัพพลายเออร์สามารถจัดหาวัสดุจากประเทศจีนได้โดยตรง
.
นอกจากนี้ประเทศจีนยังคงนโยบายลดแรงจูงใจในการลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า และรองเท้า เพื่อมุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูง ดังนั้นตลาดการแปรรูปรองเท้าและกระเป๋าจะถูกโยกย้ายจากประเทศจีนไปยังประเทศเวียดนามตามสัญญาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ส่งผลให้เวียดนามได้ประโยชน์และโอกาสจากความตกลงนี้ไปโดยปริยาย
.
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(ทูตกระทรวงพาณิชย์) ระบุว่า แม้เวียดนามจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่การส่งออกและนำเข้าของเวียดนามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกยังคงประสบปัญหาหลายประการ เนื่องจากมาตรการจากประเทศนำเข้าที่เข้มงวด รวมถึงต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดเดิมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งขยายและพัฒนาตลาดใหม่ จากการใช้ประโยชน์จาก FTA ในแต่ละประเภทที่เอื้ออำนวย
.
เมื่อได้เห็นตัวเลขของอุตสาหกรรมรองเท้าข้างต้นไปแล้ว นับว่าเวียดนามมีแต้มต่อและมีศักยภาพที่สามารถเติบโตได้ต่อไปเรื่อย ๆ และจะมีความได้เปรียบกว่าประเทศอื่นจนถึงปี 2568 ซึ่งมาจากเงื่อนไขในเรื่องของค่าจ้างแรงงาน รายได้ต่อหัว นโยบายทางเศรษฐกิจ และตลาดส่งออกที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่องและแพร่หลายในเวลาอันรวดเร็วดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว