เตรียมรับแรงกระแทก…เงินหายจากระบบเดือนละ 5 แสนล้าน


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาคาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อหยุดยั้งการระบาดเชื้อไวรัสโควิด- 19 โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ

 

1.กรณีที่มาตรการล็อคดาวน์ ดำเนินการได้เป็นผลดีที่สุด และส่งผลให้ผู้ติดเชื้อลดลงประมาณ 40 % โดยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในเดือน สิงหาคม และไม่เกิดการระบาดรอบใหม่ จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลง 0.8 %

2.กรณีสถานการณ์แย่ที่สุด คือ ผู้ป่วยยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยควบคุมการระบาดให้ลดลงเพียง 20 % และสามารถควบคุมได้ภายในสิ้นปีนี้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลง 2 %

3.กรณีสถานการณ์อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่ง ธปท. คาดว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากที่สุด จะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง 1.2 %

อย่างไรก็ตาม ธปท. หมายเหตุไว้ว่า การคาดการณ์นี้ ไม่ได้รวมปัจจัยอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป เช่น การขยายตัวจากภาคส่งออก ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ออกแถลงสอดคล้องกับ ธปท. ว่า อัตราการติดเชื้อของประเทศไทยที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง อาจส่งผลให้มีการประกาศล็อคดาวน์ที่เข้มข้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการล็อคในรูปกิจกรรม หรือ พื้นที่ ซึ่งหากสถานการณ์นี้ยืดเยื้อ จะมีผลทำให้จีดีพีประเทศหายไป 2 % หรือประเมินความเสียหายเป็นเม็ดเงินราว 4-5 แสนล้านบาทต่อเดือน ดังนั้นหากสถานการณ์รากยาวไปถึง 2 เดือน ก็จะทำกับว่าเม็ดเงินหายไป 8 แสน-1 ล้านล้านบาท

เม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท มากมายขนาดไหน รองพิจารณาเปรียบเทียบกับมูลค่าตลาดในอุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศ ในปี 2563

-อุตสาหกรรมค้าปลีก มูลค่าตลาดราว 3 ล้านล้านบาท
-อุตสาหกรรมอาหารและอาหารแปรรูป มูลค่าตลาดราว 8 แสนล้านบาท
-อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม มูลค่าตลาด ราว 5.7 แสนล้านบาท
-อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค-บริโภค มูลค่าตลาดราว 4.5 แสนล้านบาท

แน่นอนว่าเม็ดเงินที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจ จากมาตรการล็อคดาวน์ กระจายไปถ้วนทั่วทุกภาคอุตสาหกรรม ในอัตราที่มากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งหากอุตสาหกรรมใดสามารถชดเชยความเสียหาย ด้วยการส่งออก ก็ได้รับผลกระทบที่เบาลง

เอสเอ็มอี ต้องเตรียมรับมือภาวะเม็ดเงินหายไปจากระบบอีกระลอก วันนี้เราได้เห็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจต่างๆ ออกมาถล่มราคา ออกแคมเปญแย่งกำลังซื้อที่เหลืออยู่อย่างหนักหน่วง

เอสเอ็มอี อาจไม่สามารถลงสนามสงครามราคาสู้กับยักษ์ใหญ่ ดังนั้นควรใช้จุดเด่นที่เป็นองค์กรขนาดเล็ก ปรับตัวได้เร็ว โดยให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคโควิด เช่น การอำนวยความสะดวกในการซื้อในยุคล็อคดาวน์ หรือ ปรับคุณสมบัติของสินค้าให้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพ เป็นต้น

ที่สำคัญ ตัวเลขการระบาดเชื้อโควิด- 19 ในไทย และอัตราการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน หลายฝ่ายเชื่อว่า สถานการณ์น่าจะรากยาวไปจนถึงปีหน้าอย่างแน่นอน เตรียมตัวรับแรงกระแทกกันได้เลย