ไผ่ทองไอสครีม ตำนานความอร่อย 70 ปี พลิกวิกฤติโควิด ปรับโฉมใหม่ พร้อมลงตลาดออนไลน์


เชื่อว่าในวัยเด็ก คงมีไม่กี่อย่างที่จะสามารถเรียกความสนใจจากเหล่าเด็กน้อยแสนซนได้ หนึ่งในนั้นคงเป็นเสียงกระดิ่งที่คุ้นเคยจากรถไอติมที่มักจะวิ่งผ่านหน้าบ้านของพวกเขาอยู่บ่อยๆ ลองนึกภาพอากาศร้อนในยามบ่ายของบ้านเรา คุณคงแทบไม่ต้องสงสัยว่า สิ่งแรกที่เราจะนึกถึงคงเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกเสียจาก “ไอสครีมเย็นๆฉ่ำๆสักถ้วย” ซึ่งคงจะพอคลายความร้อนให้ลดอาการกระหายได้บ้างไม่มากก็น้อย

จนเป็นที่มาของเรื่องที่เราอยากจะพาทุกท่านมารู้จักในวันนี้ กับตำนาน “ไผ่ทองไอสครีม” ที่นับว่าเป็นหนึ่งในแบรนด์ไอศกรีมที่อยู่ในใจหลายคนมาเป็นเวลายาวนานกว่า 70 ปี พร้อมตำนานความเป็นมา การต่อสู้กับวิกฤติที่จำต้องผ่านร้อนหนาวมาอย่างโชกโชน จนประสบความสำเร็จอย่างเช่นที่เห็นในปัจจุบัน สามารถวางรากฐานและต่อยอดสร้างรายได้ให้กับตัวแทนจำหน่าย รถเร่ รถจักรยานถีบนับไม่ถ้วน ซึ่งนั่นนับว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนานจนแทบจะเป็นวัฒนธรรมไอติมรถถีบที่มาพร้อมเสียงกระดิ่งที่เป็นเอกลักษณ์

.

ตำนานความเป็นมาและจุดเริ่มต้นของ “ไผ่ทองไอสครีม”

คุณรตา ชัยผาติกุล ฝ่ายการตลาดอาวุโสและสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยฟูด คิงดอม จำกัด ผู้บริหารรุ่นที่สอง เล่าถึงตำนาน “ไผ่ทองไอสครีม” ที่ผ่านการเดินทางมานานถึง 70 ปี โดยเท้าความไปถึง บรรพบุรุษรุ่นแรก ซึ่งเป็นรุ่นของพ่อกับแม่ซึ่งเป็นคนจีน ได้หนีจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเมืองไทย และเมื่อมาถึงก็ทำทุกอย่าง ทำทุกอาชีพ ต่อมาจึงมีโอกาสรับจ้างขายไอศกรีม ตอนนั้นเป็นไอศกรีมโบราณที่อยู่ในกระบอกไม้ไผ่ บางวันอร่อย บางวันก็ไม่อร่อย ก็เลยคิดว่าทำขายเองดีกว่า เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เริ่มคิดค้นสูตรตั้งแต่บัดนั้น สมัยก่อนไม่มีนมผง วัตถุดิบหลักที่ใช้คือกะทิ เริ่มต้นจากหม้อแรก ผ่านการทดลองปรับปรุง ก็เริ่มขยายเป็นหลายสิบหม้อในเวลาต่อมา 

.

.

เมื่อ 70 ปีก่อน ไอศกรีมที่ขายไม่ได้ชื่อ “ไผ่ทองไอสครีม” แต่เป็นชื่อ “หมีบิน” จนกระทั้งเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา ถึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ไผ่ทองไอสครีม” ชื่อนี้มาจากภาษาจีนที่มีความหมายว่า “กิมเต็ก” แปลว่า คุณธรรมดั่งทอง ซึ่งเป็นคติพจน์ที่รุ่นพ่อ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งรุ่นที่ 1 ยึดถือและศรัทธา มีที่มาจากเมื่อครั้งที่ต้องจ่ายหนี้ให้รุ่นปู่ที่ติดหนี้มากจากการทำธุรกิจ และทิ้งให้ดูแลหนี้ดังกล่าวต่อ หากแต่การตั้งชื่อไอศกรีมคุณธรรม ฟังดูแล้วเรียกยาก ไม่เหมาะสมกับไอศกรีม ดังนั้นจึงเป็นที่มาของชื่อว่า “ไผ่ทองไอสครีม” ในที่สุด

.

.

“ในช่วงแรก ด้วยความที่คุณพ่อมีหลายอาชีพ ก็จำเป็นต้องเอาสินค้าอย่างอื่นไปขายต่อด้วย แต่ด้วยไอศกรีมจำเป็นต้องมารับตอนเช้าทุกวัน ทำให้ต้องจัดสรรเวลาให้ดี เพราะรถมีคันเดียว และพอธุรกิจเริ่มอยู่ตัว พ่อก็ได้เปิดร้านเป็นกิจการขายส่งแถวเจริญรัตน์ พอมีคนรับไอสกรีมไปขายต่อได้สัก 50 คน คุณแม่ก็ออกไปขยายสาขา 2 ที่มหานาค

จนเมื่อต่อมาก็ลองเปิดโอกาสให้ดีลเลอร์ที่เป็นบุคคลภายนอกเอาไปทดลองขายโดยใช้แบรนด์ของเรา ซึ่งคนแรกที่เป็นดีลเลอร์ของเรา อยู่แถวจรัลสนิทวงศ์ โดยช่วงแรกมีลูกน้องในทีมขายประมาณ 38-39 คน

ซึ่งนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งโรงงานผลิตเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรก แต่เป็นลักษณะการผลิตในครัวเรือน เป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม และเพิ่มอัตราขยายดีลเลอร์มาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีกว่า 300 สาขา มีบางสาขาที่เจ้าของขยายสาขาแรกจนอยู่ตัวแล้ว ก็ขยับขยายไปทำสาขาที่ 2-3 ซึ่งพวกเขามีประสบการณ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การขยายสาขาต่อไปแทบไม่มีปัญหาเลย” คุณรตา เล่าถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้

.

.

พร้อมเล่าถึงการขยายตลาดการทำธุรกิจในอนาคตต่อว่า ลักษณะการขยายสาขาในรูปแบบที่เป็นดีลเลอร์นั้น จะแยกเป็นโซนเขตแดนกันชัดเจน แต่ละโซนจะมีรถเร่มารับสินค้าไปขายที่สาขาที่อยู่ในเขตนั้นๆ ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลได้เจาะตลาดลงไปถึงในระดับตำบลแล้ว แต่สำหรับต่างจังหวัดอื่น ยังคงขยายฐานลงไปได้แค่ในระดับอำเภอ ซึ่งในปัจจุบันถือได้ว่า “ไผ่ทองไอสครีม” ได้ครอบคลุมแทบทุกภูมิภาคทุกจังหวัดทั่วไทยแล้ว

คุณรตา ยังเล่าต่อว่า ลักษณะการเป็นดีลเลอร์เป็นการพิจารณาและแต่งตั้งเป็นตัวแทนของแบรนด์ ไผ่ทองไอสครีมโดยตรง โดยขั้นตอนดำเนินการจะมีแนวทางคือ

1.) สอบถามประวัติเบื้องต้น เพื่อตรวจสอบข้อมูลว่ามีความน่าสนใจอย่างไร

2.) ศึกษาว่ามีคอนเนคชั่นที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจได้ขนาดไหน มีความเป็นไปได้หรือเปล่า

3.) มีประสบการณ์ในการบริหารการขาย บริหารทีมงาน การจัดการทรัพยากร

4.) มีเงินทุนเริ่มต้น 200,000 บาท

โดยเบื้องต้นจะมีประมาณ 3-4 คันก่อน เมื่อดีแล้วก็ขยายเป็น 5-10 คัน และขยายเป็นเท่าตัวต่อไป แต่ละศูนย์สามารถมีรถพ่วงดูแลได้ถึง 60-70 คัน โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละศูนย์ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีก็สามารถคุ้มทุน และสร้างกำไรให้กับศูนย์อยู่ระหว่าง 50,000-300,000 บาทต่อเดือน

.

.

ผู้บริหารของ “ไผ่ทองไอสครีม” ระบุว่า ปัจจุบันยังรับสมัครดีลเลอร์อยู่ ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลจะพยายามขยายสาขาให้ครบทุกตำบล ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 60 สาขา ส่วนต่างจังหวัดจะพยายามขยายสาขาให้ครอบคลุมทุกอำเภอ ที่ผ่านมาขยายไปในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างมากประมาณ 50 สาขา ส่วนทางภาคใต้และภาคเหนือเพิ่งจะมาขยายอย่างจริงจัง 2 ปีที่ผ่านมา

.

ทำเลที่ขายดีส่วนใหญ่จะต้องเป็นแหล่งชุมชน เป็นที่ทำงาน หน้าโรงเรียน โรงงาน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ นอกจากนี้ทาง “ไผ่ทองไอสครีม” ได้ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปตามแนวเขตการค้าชายแดนของไทย เพื่อเป็นฐานตั้งฮับศูนย์กลางกระจายสินค้า ให้พ่อค้าแม่ค้าจากประเทศเพื่อบ้านที่อยู่ติดชายแดนมานำไปขายต่อ ซึ่งจะมีตั้งแต่เมียนมาร์ ลาว มาเลเซีย ส่วนที่กัมพูชามีไปตั้งสาขาแล้ว 31 สาขา ซึ่งเป้าหมายต่อไปต้องการเข้าไปเจาะตลาด CLMV(เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม) ซึ่งได้รับการกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย ในฐานะกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูง และได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

.

.

คุณรตา เล่าต่ออีกว่า การทำงานของ “ไผ่ทองไอสครีม” มุ่งมั่นที่จะทำการตลาดในลักษณะเป็นพี่เลี้ยงให้กับดีลเลอร์ศูนย์จำหน่ายสาขาที่เป็นตัวแทนตรงของเรา คอยแก้ปัญหาและติดตามให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด

.

จุดเด่นที่ทำให้เป็นแบรนด์เข้าถึงง่ายและได้รับความนิยม

ผลิตภัณฑ์ของ “ไผ่ทองไอสครีม” เป็นสินค้าที่ขายง่าย จัดการง่าย เพราะทางโรงงานได้แพ็คบรรจุภัณฑ์อย่างดีไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จุดเด่นของ “ไผ่ทองไอสครีม” คือท๊อปปิ้ง ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่รับประทานคู่กับไอศกรีม ซึ่งทางโรงงานได้ปรุงเสร็จด้วยสูตรเคล็ดลับที่จะช่วยให้รสชาตินิ่ง กินที่ไหนก็เหมือนกัน พนักงานสาขามีหน้าที่เพียงแค่นำมาตักใส่ภาชนะ แล้วขายให้ลูกค้าต่อได้เลยทันที 

.

.

พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เป็นตัวเร่งให้กระโจนเข้าสู่ตลาดผู้เล่นออนไลน์

ทาง “ไผ่ทองไอสครีม” มีความคิดที่จะขายผ่านออนไลน์มาตั้งแต่ประมาณปี 2562 เป็นการสร้างโอกาสท่ามกลางปัญหา เพราะจากการทำธุรกิจนับหลายสิบปีที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ เมื่อผู้บริโภคต้องการรับประทาน “ไผ่ทองไอสครีม” ก็จะหาได้ยาก เพราะรถเร่ของเราได้เร่ขายไปเรื่อยตามแหล่งชุมชน โอกาสที่คนขายจะเจอกับคนซื้อยังเป็นช่องว่างทางการตลาดอยู่ และยังเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องการหาคนขายยาก พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคเปลี่ยน ซึ่งเป็นผลมาจากโซเชียลดิสรัป ทำให้คนนิยมสั่งอาหารบนแพลตฟอร์มกันมากขึ้น พร้อมกันนี้ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ทางบริษัทได้ทำการตลาดเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ “ไผ่ทองไอสครีม” เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ รสชาติถูกใจ และมีเอกลักษณ์ความเป็น “ไผ่ทองไอสครีม” จึงเป็นโอกาสในการต่อยอดผลักดันธุรกิจ “ไผ่ทองสเตชั่น” 

.

.

.

การทำธุรกิจในลักษณะแฟรนไชส์ “ไผ่ทองสเตชั่น” นั้นจะเสียค่าสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายเพียง 20,000 บาท ไม่มีค่า Royalty Fee (ไม่มีการแบ่งสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ต่อเดือน) โดยทางบริษัทจะให้ความช่วยเหลือทางด้านการตลาด ช่วยเสริมสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จัดหาแคมเปญโปรโมชั่นแรงๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นการขายให้กับตัวแทน “ไผ่ทองสเตชั่น” 

ส่วนกลุ่มรถเร่ที่ขายตามระบบดีลเลอร์  “ไผ่ทองสเตชั่น” มีตัวเลือกให้ทำยูนิตการขายที่เล็กกว่าเพื่อเป็นทางเลือก โดยเฉลี่ยกล่องละ 1 กิโลกรัม ราคาขายปลีกจะอยู่ถ้วยละ 35 บาท ในขณะที่กลุ่มดีลเลอร์จะมียูนิตการขายที่ 2.2 กิโลกรัม และราคาขายปลีกถ้วยละ 30 บาทเท่านั้น

ในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้ออกไอศกรีมที่มีส่วนผสมหลักเป็นนม ภายใต้แบรนด์ใหม่ “คิวปิท” ซึ่งมีรสชาติถูกปากกับคนเจนใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อผสมกับช็อกโกแลต จะมีรสชาติที่อร่อยกว่าผสมกับกะทิในแบบเดิม

.

.

การเดินทางของ “ไผ่ทองไอสครีม” สู่แฟรนไชส์ “ไผ่ทองสเตชั่น” ตอบโจทย์ยุคใหม่

บริษัทยังคงมีเป้าหมายการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รูปแบบดีลเลอร์ที่ต้องการขยายภายในประเทศและตามตะเข็บชายแดนประเทศเพื่อนบ้านของเรา แต่กระนั้นก็ยังคงมีข้อจำกัดของสินค้าประเภทไอศกรีม ที่จำเป็นต้องเก็บรักษาด้วยความเย็นในอุณหภูมิที่คงที่ ซึ่งส่งผลเป็นอุปสรรคต่อเส้นทางการขนส่ง การขยายสาขาไปยังต่างประเทศจึงทำได้ยาก จึงเป็นเหตุผลที่เราพยายามหาวิธีที่จะพาสินค้าไปสู่ตลาดประเทศอื่นได้อย่างไรต่อไป

ส่วนการขยายแฟรนไชส์ “ไผ่ทองสเตชั่น” คาดว่าจะขยายได้ดีในอนาคต จากปัจจุบันมีอยู่ 29 แห่ง ขณะนี้ได้มีการเจรจากับปั้มน้ำมันบางจาก เพื่อจับมือกันร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ขยายแฟรนไชส์ “ไผ่ทองสเตชั่น” ในปั้มน้ำมัน และคาดว่าหลังโควิด จะมีการปิดดีลพร้อมเห็นภาพการจับมือสร้างการเติบโตที่ชัดเจนขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในสิ้นปี 2564 แฟรนไชส์ “ไผ่ทองสเตชั่น” จะขายได้ 1.5 ล้านกล่อง ส่วนในรูปแบบดีลเลอร์จะขายได้ 2.5 ล้านกล่อง แม้ว่าในช่วงโควิด-19 อำนาจการซื้อจะถดถอยประมาณ 30-40 % แต่เชื่อว่าหลังการระบาดคลี่คลายยอดขายก็จะฟื้นกลับมา เพราะไอศกรีมเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับประเทศไทย ที่มีอากาศร้อนเกือบทั้งปี” คุณรตาได้กล่าวทิ้งท้ายให้เห็นทิศทางในอนาคต

.

รูปแบบการลงทุนแฟรนไชส์ “ไผ่ทองไอสครีม”

การขยายแฟรนไชส์ “ไผ่ทองสเตชั่น” จะรับสมัครตัวแทนในหลายลักษณะประกอบด้วย

1) Home Delivery ประเภทนี้มักจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่รับมาขายที่บ้าน โดยขายผ่านช่องทางเครือข่ายที่ตัวเองถนัด และใช้บริการ Delivery ผ่านแพลตฟอร์มที่มีอยู่ในท้องตลาดอาทิ ไลน์แมน โรบินฮู้ด แกร็บฟู้ด
2) Gas Station มีพื้นที่ประมาณ 2 ตารางเมตร เปิดขายตามพื้นที่ในสถานีเติมน้ำมัน
3) Market Place เปิดขายตามตลาดนัด หรือตลาดอินดี้ ในรูปแผงลอยหรือบูธเคลื่อนที่
4) Corner Shop เป็นร้านที่ขายอาหารอยู่แล้ว แต่รับไอสครีมเข้าไปขายเสริม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า
5) Food Court เช่าขายตามศูนย์อาหารต่าง ๆ เช่น ศูนย์อาหารตามห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหารของราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือร้านอาหารในโรงงานขนาดใหญ่

.

.