6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องรัฐบาลยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพประชาชนและสื่อมวลชนตามประกาศฉบับที่ 27 ที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระบุหลังแถลงการณ์เรียกร้องฉบับแรกผ่านไป 2 สัปดาห์ รัฐบาลยังเพิกเฉย ซ้ำนายกฯ ยังกำชับให้ใช้มาตรการอย่างจริงจัง เตรียมจัดกิจกรรมคัดค้านต่อเนื่อง
.
เมื่อวานนี้ (28 ก.ค.) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 6 องค์กร ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่อง ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพประชาชนและสื่อมวลชนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีรายละเอียดดังนี้
.
.
.
ตามที่ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้มีแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 แสดงความกังวลต่อการที่รัฐบาลออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) เรื่อง มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่ระบุว่า “การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร” พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการออกข้อกำหนดข้างต้น หรือจัดทำแนวปฏิบัติจากข้อกำหนด และแถลงถึงเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ให้เกิดความชัดเจน เพื่อมิให้มีการนำข้อกำหนดดังกล่าว ไปเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน จนกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
.
ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ นอกจากรัฐบาลจะเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว ในทางกลับกัน ปรากฏว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความใน Facebook กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้มาตรการในข้อกำหนดดังกล่าวอย่างจริงจังต่อสื่อมวลชน คนดังหรือเพจต่างๆ ฯลฯ
.
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร ดังมีรายชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ได้ประชุมหารือกันและมีความเห็นร่วมกันดังต่อไปนี้
.
1. การยืนยันที่จะบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี ประกอบกับความพยายามของรัฐบาลที่ข่มขู่และดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ย่อมเป็นการแสดงเจตนาที่ชัดเจนที่ต้องการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน
2. การอ้างว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้ ในการจัดการกับปัญหาสิ่งที่รัฐบาลเรียกว่า “ข่าวปลอม” หรือ Fake News นั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ปราศจากความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของรัฐบาลในการสื่อสารกับประชาชน อันเป็นผลมาจากการบริหารราชการที่ผิดพลาดของนายกรัฐมนตรีเองทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ถึงแม้จะมีสื่อมวลชนบางส่วนได้เคยนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง แต่ก็มิใช่เป็นการจงใจสร้างข่าวปลอมตามที่รัฐบาลหรือปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ของฝั่งรัฐบาลตีตรา เนื่องจากการเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนเหล่านั้นไม่ได้มีเจตนาสร้างข่าวเท็จเพื่อหวังผลให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเกิดความเสียหาย หากแต่เป็นความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในรายละเอียดของการนำเสนอเชิงวารสารศาสตร์ ซึ่งสื่อที่นำเสนอก็ได้รับผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตนเองเช่นกัน อีกทั้งการแสดงความรับผิดชอบและแก้ไขให้ถูกต้องก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องได้
.
3. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอเชิญชวนให้สื่อมวลชน และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงร่วมกันแสดงออกในทุกรูปแบบเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการตามข้อกำหนดดังกล่าว โดยพร้อมเพรียงกัน พร้อมทั้งช่วยกันระมัดระวังการเสนอข่าวให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการจำกัดเสรีภาพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน อันจะกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนด้วย
.
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กรขอยืนยันในหลักการ “เสรีภาพสื่อเสรีภาพประชาชน” กล่าวคือ การคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชน ย่อมเป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนเช่นกัน
.
ดังนั้น จากนี้เป็นต้นไป องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจะมีกิจกรรมที่แสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จนกว่ารัฐบาลจะเข้าใจและตระหนักได้ว่า การพยายามจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนย่อมนำไปสู่ความล่มสลายของรัฐบาลในที่สุด
.