ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายดังเช่นในปัจจุบัน ช่องทางส่วนใหญ่ที่จะทำให้คนทั่วไปสามารถใช้ติดต่อสื่อสารกันได้ก็เห็นจะมีเพียงตู้โทรศัพท์แบบหยอดเหรียญ หรือขยับมาอีกหน่อยก็เป็นโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงิน ซึ่งหากจะเติมแต่ละครั้งเราจำเป็นต้องเข้าร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายของชำที่มีบัตรเติมเงินขายให้กับเรา และหากว่าคุณอยู่ในเขตต่างจังหวัดแล้ว มันจะเป็นเรื่องลำบากขึ้นไปอีกขั้น เมื่อเราจะต้องหาร้านเติมเงินหากค่าโทรหมด
.
และนี่คือช่องทางทำเงิน ที่ “ตู้บุญเติม” ได้มองเห็นโอกาสจากคนหาเช้ากินค่ำ ที่ไม่มีเงินถุงเงินถังจะเติมโทรศัพท์คราวเดียวทีละมากๆ โดยเริ่มทำตลาดด้วยการเจาะกลุ่มคนที่ต้องการเติมเงินแค่ที่เขาอยากใช้ คนที่มีรายได้น้อย ที่เป็นกลุ่มฐานรากของประเทศ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ยังคงนิยมการใช้จ่ายด้วยเงินสดอยู่ ซึ่งในยุคแรกเริ่มกลุ่มลูกค้าของบุญเติมนับได้ว่ามีฐานที่กว้างกว่า 90% จากจำนวนเบอร์โทรศัพท์แบบเติมเงินที่มีกว่า 60 ล้านเบอร์ และด้วยการเน้นทำตลาดลงไปในแหล่งชุมชน พื้นที่ห่างไกล ที่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอาจจะยังเข้าไปไม่ถึง นับว่าเป็นข้อได้เปรียบที่ตู้บุญเติมได้เลือกใช้กลยุทธ์นี้ จนเมื่อทุกอย่างถูกปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงตามเวลาเข้ามามีผล การตลาด “แบบป่าล้อมเมือง” ก็ยิ่งส่งผลให้ธุรกิจนี้ สามารถต่อยอดเทคโนโลยีต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุดดังเช่นที่เห็นในปัจจุบัน
.
.
ทำความรู้จักกับ “ตู้บุญเติม” ตู้เติมเงินที่มาก่อนกาล
“ตู้บุญเติม” เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้บริการและลูกค้า ที่มาในรูปของตู้เติมเงินออนไลน์ โดยลูกค้าสามารถทำรายการต่างๆ ได้ด้วยตนเองตลอด 24 ชั่วโมง โดยมุ่งเน้นเจาะฐานตลาดให้เข้าถึงระดับชุมชน หมู่บ้าน หรือแหล่งชุมชนที่มีความพลุกพล่าน ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับฐานรากของสังคมไทย ผ่านเครือข่ายตู้บุญเติมที่กระจายครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศมากกว่า 130,000 ตู้ และยังคงมุ่งขยายฐานลูกค้าให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เพื่อขยายจำนวน “ตู้บุญเติม” ให้มีการให้บริการที่ครอบคลุม สามารถรองรับกลุ่มลูกค้าได้ทุกเพศทุกวัยโดยเน้นลูกค้าระดับรายได้น้อยถึงปานกลางที่ใช้โทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Pre-paid) เป็นส่วนใหญ่
โดยมีศูนย์บริการบุญเติม (Boonterm Call Center) หมายเลข 1220 เพื่อเป็นผู้ช่วยให้คำปรึกษาในกรณีที่มีลูกค้าต้องการความช่วยเหลือ ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้บริษัทยังได้ต่อยอดการบริหารจัดการตู้บุญเติม ในรูปแบบของระบบเครือข่ายผ่านตัวแทนบริการ (Master Agent) กว่า 170 รายทั่วประเทศ และร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner) ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเภทความถนัดของพันธมิตร อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่น (7-ELEVEN) เทสโกโลตัส (Tesco Lotus) แฟมิลี่มาร์ท ( Family Mart) ร้าน LAWSON108 สถานีบริการน้ำมันปตท. ปั๊มน้ำมันจิฟฟี่. และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นต้น
รวมไปถึงการต่อยอดสู่ธุรกิจให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ชื่อ “Be wallet” บริการจำหน่ายตั๋วผ่านเว็บไซต์ “House of Ticket” และธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านตู้บุญเติม
.
บริษัทมีธุรกิจหลักจำแนกตามประเภทเป็น 3 กลุ่มหลักด้วยกัน ประกอบด้วย
– ธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ (Online Top-Up & Payment Business)
– ธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร (Banking Agent & Lending Business) เป็นศูนย์รวมของการเป็นตัวแทนธนาคาร (Banking Agent)
– ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและการกระจายสินค้า (Vending Machine & Distribution Business)
.
.
ให้บริการติดตั้งตู้ขายสินค้าและบริการอัตโนมัติ และดูแลระบบการจัดการของตู้ทั้งหมด อาทิ ตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติที่มีบริการเติมเงิน-รับชำระเงินของตู้บุญเติม (Vending Machine & Top-Up Service) ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ คาเฟ่อัตโนมัติ ตู้ชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) และธุรกิจกระจายสินค้าให้กับร้านค้าปลีกชุมชน (โชว์ห่วย)
.
มีช่องทางให้บริการที่หลากหลาย เจาะกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่
– บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Prepaid) บริการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) บริการรับฝากเงินเข้าบัญชีธนาคาร
– บริการเปิดบัญชีธนาคารด้วยบริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) และตรวจสอบเครดิตบูโร (NCB) ผ่านตู้บุญเติม รวมไปถึงการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลรายย่อย
– บริการขายสติกเกอร์ไลน์
– บริการจ่ายบิลค่าสาธารณูปโภค สินเชื่อ บัตรเครดิต บริการรับชำระเงินค่าสินค้า บริการขายประกันภัยและอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ
.
กลยุทธ์การแข่งขันธุรกิจบริการเติมเงินออนไลน์
ปัจจุบัน คนไทยกว่า 75% หรือ 51 ล้านคน ใช้เงินสดเป็นหลัก ในจำนวนนี้มีถึงกว่า 30 ล้านคนไม่มีบัญชีเงินฝาก รวมถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ยังคงใช้เงินสด บวกกับแนวโน้มการควบคุมค่าใช้จ่ายในอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ทั้งการลดจำนวนสาขาและตู้กดเงินอัตโนมัติ (ATM) ตู้บุญเติมจึงเน้นการพัฒนา เพิ่มศักยภาพตู้ให้รองรับบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินครบวงจร
– เน้นกลยุทธ์จุดติดตั้งตู้บุญเติมที่มีคุณภาพ บริหารยอดเติมเงินรวมต่อตู้ให้มีประสิทธิภาพ
– พัฒนาโครงข่ายระบบออนไลน์ ตู้บุญเติมทุกตู้ทำงานด้วยระบบเชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการต่าง ๆ โดยตรง ตรวจสอบยอดการทำรายการได้ทันที แม่นยำสูง ถูกต้อง และรวดเร็ว
– รองรับบริการที่หลากหลาย นอกเหนือจากการเติมเงินมือถือ ยังให้บริการอื่นๆได้ อาทิเช่น ชำระค่าโทรศัพท์รายเดือน, ซื้อบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ, ซื้อบัตรเงินสด, เติมเงินเกมออนไลน์, ซื้อรหัสอินเตอร์เน็ตแบบไร้สายหรือ Wi-Fi, ซื้อชั่วโมงอินเตอร์เน็ต, เติมเงิน e-Wallet, ซื้อประกัน, ชำระค่าสินค้าออนไลน์, เติมเงินบัตรโดยสารรถสาธารณะ, รับบริจาคเงินให้มูลนิธิต่างๆ รวมถึงบริการเสริมอื่นๆ เช่น การดูดวง การดูเลขมงคล เป็นต้น
– รองรับบริการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย, กสิกรไทย, กรุงศรีอยุธยา, ออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, และไทยพาณิชย์
.
.
.
ความได้เปรียบที่มาจากการต่อยอดเทคโนโลยี
ด้วยความที่ธุรกิจนี้ ให้บริการรับชำระเงินออนไลน์ผ่าน “ตู้บุญเติม” ด้วยระบบแฟรนไชส์ทั้ง 100% ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ เน้นการขายตู้รับชำระเงิน ประกอบกับ ตู้บุญเติมทุกตู้ให้บริการในระบบออนไลน์ (Online) ตั้งแต่เริ่มต้นให้บริการ ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มปรับเปลี่ยนจากตู้รับชำระเงินระบบอนาล็อค (Analog) มาเป็นตู้รับชำระเงินระบบออนไลน์ (Online) ดังนั้นจึงนับได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบที่ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีในอนาคตก่อนเพื่อน
อีกหนึ่งข้อได้เปรียบที่เป็นต่อคู่แข่ง คือจำนวนตู้ที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ดังจากที่เราอาจจะเห็นได้จากภาพตู้เติมเงินสีส้มข้างทางจนเป็นภาพชินตา และการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ตลอดจนการสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความภักดีต่อตราสินค้า (Brand loyalty) ทำให้ผู้บริโภคมีความคุ้นเคยและให้ความเชื่อถือเมื่อได้เห็นตู้เติมเงินที่เขาคุ้นเคย
– มีจำนวนแอพพลิเคชั่นให้บริการที่มากกว่าและหลากหลายกว่า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการที่หลากหลาย ทุกเพศวัยทุกเจนเนอเรชั่น
– มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างแรงจูงใจ พร้อมการจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
– และความมีประสิทธิภาพของระบบการให้บริการที่มีความรวดเร็ว แม่นยำและน่าเชื่อถือจากประสบการณ์การบริหารจัดการระบบรับชำระเงินออนไลน์ตั้งแต่เริ่มธุรกิจในปี 2551
.
ภาพรวมตลาดการแข่งขันในธุรกิจตู้เติมเงิน
ปัจจุบัน ตลาดเติมเงินโทรศัพท์มือถือเติมเงินล่วงหน้า (Pre-paid) มีผู้ให้บริการตู้เติมเงินอัตโนมัติหลายราย ผู้ให้บริการรายหลัก ได้แก่ บุญเติม, เติมสบายพลัส, ซิงเกอร์, กระปุกท็อปอัพ, และเติมดี ฯลฯ
.
รวมทั้งมีผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ หันมาพัฒนาเครื่องรับชำระเงินอัตโนมัติ ให้บริการเติมเงินมือถือ เติมเกม จ่ายบิลของตนเองอีกด้วย ทำให้จำนวนตู้เติมเงินมือถือมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี
.
นอกจากนั้น การเติมเงิน Pre-paid ยังทำได้ผ่านช่องทางอื่น ๆ เช่น โมบายแอปพลิเคชัน โมบายแบงค์กิ้ง ผ่านเคาน์เตอร์รับชำระต่างๆ ฯลฯ ทำให้การแข่งขันสูงมากขึ้นเป็นเท่าตัว
.
– สิ้นปี 2563 มีผู้ใช้บริการตู้บุญเติม 20 ล้านเลขหมาย สัดส่วนจำนวนตู้ในตลาดมีมากกว่า 50% มูลค่าเติมเงินรวม 38,632 ล้านบาท ลดลง 4.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน
– การเป็นตัวแทนรับฝากเงินสดและบริการโอนเงินเข้าบัญชี จำนวนรายการโอนเงิน 1,912,918 รายการต่อเดือน เพิ่มขึ้น 65.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน
– ไตรมาสแรกปี 2564 มูลค่าเติมเงินรวม 9,627 ล้านบาท โอนเงินต่อเดือน 2,065,280 รายการ จากจำนวนรวม 129,997 ตู้
– การเติมเงิน E-wallet เติบโตเพิ่มขึ้น 91% มาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้การใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์และซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น
กำไรในไตรมาส 1 ปี 2564 เท่ากับ 140.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% เปรียบเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลง 3.4% เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักมาจากรายได้หลักที่ลดลงจากธุรกิจเติมเงินและรับชําระเงินอัตโนมัติ แต่ธุรกิจให้บริการทางการเงินและ สินเชื่อครบวงจรมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
บริษัทมีสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 เท่ากับ 3,004.31 ล้านบาท สินทรัพย์รวมลดลงจากการบริหารเงินสดจ่ายหนี้สินท่ีมี ดอกเบี้ย 171 ล้านบาท และเงินจ่ายล่วงหน้าค่าบริการโทรศัพท์สํารองสําหรับช่วงเทศกาลปีใหม่ลดลง 145 ล้านบาท และรวมถึงการใช้งานตู้ที่มีอายุ ครบการตัดค่าเสื่อมราคา 8 ปี แต่ยังใช้งานได้อยู่
.
เป้าหมายรุกตลาดในปี 2564 (วิกฤตโควิด-19 ระลอก 3)
- ผลักดันให้ลูกค้าส่วนใหญ่กว่า 90% ที่ใช้บริการเดียว ให้มีแรงจูงใจใช้มากกว่า 1 บริการ ซึ่งในปัจจุบันตู้บุญเติมมีช่องทางให้เลือกใช้มากกว่า 86 บริการด้วยกัน
- ยอดเติมเงินรวมเพิ่มขึ้น 15-20% จากการเพิ่มบริการและช่องทางใหม่รูปแบบต่างๆ
- ผลักดันธุรกิจตัวแทนธนาคาร คาดหวังจำนวนธุรกรรมเติบโต 30% ด้วยกลยุทธ์เพิ่มบริการถอนเงินสด เปิดบัญชี พร้อมขยายฐานลูกค้าคนไทยและต่างด้าว
- งบลงทุน 500 ล้านบาท
– เพิ่มตู้บุญเติมรูปแบบใหม่อีก 5,000 ตู้
– เปิดช่องทางธุรกิจบริการสินเชื่อ , ผ่อนชำระสินค้า วงเงินกว่า 250 ล้านบาท
– ลงทุนและร่วมบริหารคาเฟ่อัตโนมัติ 20,000 ตู้ ภายใน 3 ปี
.
.