สมาคมธนาคารไทย ยืดมาตรการพักหนี้ ครอบคลุมพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ถึง15ส.ค.นี้ พร้อมปิดสาขาที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง


นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า จากมติของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม จากเดิม 13 จังหวัด เพิ่มขึ้น 16 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี และอ่างทอง โดยใช้มาตรการล็อกดาวน์เช่นเดียวกับ 13 จังหวัดในปัจจุบัน มีผลตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564

เพื่อชะลอและลดการแพร่การระบาดของโควิด -19 ธนาคารมีความจำเป็นต้องปิดการให้บริการของสาขาในบางพื้นที่เสี่ยงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดหรือสีแดงเข้ม 29 จังหวัด เป็นการชั่วคราว โดยมีรายละเอียดดังนี้

ธนาคารจะปิดสาขาที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า สาขาในศูนย์การค้า และสาขาในคอมมูนิตี้มอลล์ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด มีผลตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
ลูกค้าสามารถใช้บริการที่สาขาทั่วไปที่เป็นสาขา Stand Alone เปิดให้บริการตามปกติ 5 วัน หรือ 7 วันทำการ ขึ้นกับการพิจารณาของแต่ละธนาคาร แต่จะเปิดให้บริการไม่เกินเวลา 15.30 น.

ส่วนสาขาใน 3 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เปิดให้บริการไม่เกินเวลา 15.00 น

สำหรับสาขาในห้างสรรพสินค้า สาขาในศูนย์การค้า หรือ สาขาในคอมมูนิตี้มอลล์ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนอกเขตพื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมอื่นๆ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ แต่จะต้องเปิดให้บริการไม่เกิน 17.00 น.

.

ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถตรวจสอบรายชื่อสาขาใกล้เคียงที่เปิดให้บริการได้ทาง website ของแต่ละธนาคาร โดยพร้อมให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำในการทำธุรกรรมผ่านช่องทาง Mobile Banking เช่น พร้อมเพย์ หรือการชำระเงินด้วย QR Code สำหรับการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน ผ่านมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ครอบคลุม 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ให้แจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือ ผ่านช่องทาง ทาง Call Center Line@ Facebook Website และ Mobile Application ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2564

.

นายผยง ศรีวณิช กล่าวเพิ่มว่า การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน เป็นเพียงการเลื่อนการชำระออกไป ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชำระหนี้ได้ควรจะชำระหนี้ต่อเนื่อง โดยพร้อมช่วยเหลือลูกค้าแต่ละกลุ่มตามความเหมาะสม เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลกค้าผู้ประกอบการในช่วงที่ยังไม่มีรายได้หรือรายได้ลดน้อยลงและช่วยหล่อเลี้ยงสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการด้วย.- สำนักข่าวไทย

.

.

.