โควิด-19 ซัดสายการบินในประเทศพังย่อยยับ ธุรกิจการบินขนาดใหญ่ขาดทุนรวมแล้วกว่า 157,398 ล้านบาท วอนรัฐเห็นใจ ช่วยต่อลมหายใจเฮือกสุดท้าย


สายการบินภายในประเทศ 7 แห่ง ขาดทุนยับในวิกฤตโควิด -19 ระบาด ผลประกอบการปี 2563 สายการบินขนาดใหญ่ขาดทุนรวมแล้วกว่า 157,398 ล้านบาท ส่วนสายการบินขนาดเล็กหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว สมาคมสายการบินฯ วอนขอ Soft Loan อย่างน้อย 5 พันล้านบาท เพื่อรักษาการจ้างงานกว่า 2 หมื่นคนในครึ่งปีหลัง 2564

มาตรการล็อกดาวน์ขั้นสูงสุดที่เริ่มมาตั้งแต่ 21 กรกฏาคมที่ผ่านมา และต่อเนื่องตลอดเดือนสิงหาคม เพื่อลดการเคลื่อนย้าย มีผลต่อการเดินทางบนน่านฟ้า ทั้งนี้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออกประกาศแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการสนามบินและเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศระหว่างสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อมุ่งลดและจำกัดการเดินทางการเคลื่อนย้ายของบุคลและกิจกรรมขนส่งสาธารณะ ซึ่งประกาศของ กพท. มีสาระสำคัญ คือ ห้ามมิให้สายการบินปฏิบัติการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ในช่วงเวลาที่มีการระบาดสูงณ.ขณะนี้

.

.

โควิดซัดสายการบินภายในประเทศขาดทุนบักโกรก

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาที่การระบาดของโควิด -19 ระบาดหนักในประเทศไทย ส่งผลให้การเดินทางของประชาชนในประเทศมีปริมาณที่ลดลง ประกอบกับทางการมีคำสั่งให้ล็อกดาวน์ในเขตที่มีการระบาดหนัก โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทั้งต้นทางและจุดหมายปลายทางที่สายการบินในประเทศทุกสายการบินจำเป็นต้องใช้เป็นฐานในการบิน ไม่ว่าจะเป็นสนามบินดอนเมือง หรือสนามบินสุวรรณภูมิ จากผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้บริษัทในธุรกิจการบินส่วนใหญ่ต้องขาดทุน มีถึง 3 บริษัทหยุดให้บริการชั่วคราว และไม่นำส่งผลประกอบการให้กับกระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วย สายการบิน ไทยไลอ้อน แอร์ ของ บริษัท ไทยไลอ้อน เมนทารี จำกัด , สายการบินไทยแอร์เอเชียระยะไกล ต้นทุนต่ำ ของบริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด , สายการบิน นกแอร์ ของ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่ากำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการฟื้นฟูกิจการอยู่

จากตัวเลขของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ได้แบ่งประเภทของธุรกิจสายการบินในประเทศออกเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทธุรกิจขนาดใหญ่ และประเภทธุรกิจขนาดเล็ก ปรากฏตัวเลขสถิติดังนี้

ประเภทธุรกิจสายการบินภายในประเทศขนาดใหญ่เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมามีรายได้ทั้งหมด 33,917.57 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 273,604.51 ล้านบาท มีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนมากขึ้นเช่นกัน โดยในปี 2563 ขาดทุนรวม 157,398.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ขาดทุนรวม 12,298.55 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจสายการบินภายในประเทศขนาดเล็กในปี 2563 ที่ผ่านมาส่วนใหญ่หยุดการให้บริการ ส่วนรายได้สายการบินธุรกิจขนาดเล็กมีมูลค่ารวมของรายได้ในปี 2562 อยู่ที่ 955,279.37 บาท ขาดทุนสุทธิ 103.28 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้ 203,895.53 บาท ขาดทุน 17.65 ล้านบาท

สมาคมสายการบินฯเคลื่อนไหวขอ Soft Loan ต่อลมหายใจ

จากภาพรวมของการขาดทุนในกลุ่มธุรกิจสายการบินภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา ทำให้สมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 7 สายการบินในไทย ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, นกแอร์, ไทยสมายล์, ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเยียวยา โดยทำเอกสารยื่นต่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมี นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เป็นแกนนำ

โดยนายพุฒิพงศ์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 บางกิจการต้องหยุดการดำเนินการชั่วคราว รวมถึงการขนส่งทางอากาศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในรอบ 10 ปี ทางสมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำตั้งเเต่การระบาดของโควิด-19 รอบเเรก เมื่อเดือนมีนาคม 2563 โดยล่าสุดทางสมาคมฯได้ส่งหนังสือติดตามอีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งขอปรับลดตัวเลขวงเงินการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) นับรวมทั้งหมดของทั้ง 7 สายการบิน จากจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท (จากการยื่นขออนุมัติครั้งเเรกเมื่อเดือนมีนาคม 2563) ให้เหลือเพียง 5 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการรักษาการจ้างงานพนักงานสายการบินทั้ง 7 สาย รวมกว่า 2 หมื่นคนในครึ่งปีหลังของ 2564

“นับเป็นเวลากว่า 478 วัน หรือรวม 17 เดือน ที่ 7 สายการบินได้พยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือตัวเอง เเละปรับตัวเพื่อประคองธุรกิจให้รอดจากสถานการณ์อันยากลำบากครั้งนี้ แต่ก็ยังพบว่าทั้ง 7 สายการบินแบกรับเรื่องการจ้างงานเพียงอย่างเดียว เป็นเงินราว 1.5 หมื่นล้านบาท โดยเรายังมีความหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเร่งดำเนินการอนุมัติซอฟต์โลนโดยเร็วที่สุด เพราะนี่คือลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายการบินแล้ว ซึ่งถ้าหากปล่อยให้สายการบินต้องหยุดบินเกิน 3 เดือน กิจการในธุรกิจการบินอาจต้องตายหมดทุกรายแน่นอน” นายพุฒิพงศ์ได้กล่าวไว้

.

.

สำหรับสถานการณ์การดำเนินงานของ 7 สายการบินที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้นั้น ต่างก็ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยที่สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ได้ประกาศหยุดบินเส้นทางในประเทศตั้งแต่วันที่ 13 – 31 กรกฎาคม 2564 เหลือเฉพาะเส้นทางบินที่เกี่ยวข้องกับการนำร่องเปิดท่องเที่ยวประเทศ ได้แก่ เส้นทางภูเก็ต-สมุย เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สู่โครงการสมุย พลัส โมเดล และเส้นทางกรุงเทพฯ-สมุย รับส่งผู้โดยสารจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสมุย

สายการบินไทยแอร์เอเชีย หยุดบินเส้นทางในประเทศชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 12 – 31 กรกฎาคม 2564, สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ หยุดบินเส้นทางระหว่างประเทศตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก, สายการบินนกแอร์ ยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมด, สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ส ยกเลิกเส้นทางบินในประเทศทั้งหมด, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมด และสายการบินไทยเวียตเจ็ท ยกเลิกทำการบินทั้งหมด คงเหลือเฉพาะเที่ยวบินขนส่งสินค้าทางอากาศเท่านั้น

ปัจจุบัน 7 สายการบิน มีเครื่องบินที่ต้องจอดนิ่งรวมกว่า 170 ลำ และมีค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนพนักงานทั้งสิ้นรวมกว่า 900-1,000 ล้านบาทต่อเดือน

โดยความช่วยเหลือในขณะนี้ ยังมีแค่การส่งสัญญาณว่ากำลังอยู่ในขั้นพิจารณาดำเนินเรื่อง

โดยมีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณา และคาดว่าจะมีความชัดเจนเร็ว ๆ นี้

และบริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) (ทอท.) และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ที่ก็อยู่ระหว่างการพิจารณายกเว้นการจัดเก็บค่าบริการขึ้น-ลงอากาศยาน รวมถึงค่าจอด ค่าปรับด้วย.

.

.