ก่อนหน้านี้ ผมเขียนถึงเรื่อง ร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. … ซึ่งเป็นกฎหมายรองรับการใช้พืชกระท่อม ในด้านต่างๆ ที่คาดว่าน่าจะออกมาทันใช้ในวันที่ 24 ส.ค.นี้ ภายหลังจากที่เป็นวันปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 แล้ว (อ่านย้อนหลัง https://www.smartsme.co.th/content/244603 )
ล่าสุดผมได้มีโอกาสได้เห็นบางส่วนของร่างฉบับเต็ม ก่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในสภาฯ และดำเนินการไปตามขั้นตอนจนกว่าจะมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ ซึ่งแม้ว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะประกาศใช้ไม่ทันในวันที่ 24 ส.ค.นี้ แต่การใช้พืชกระท่อมเพื่อบริโภค จำหน่ายจ่ายแจก ตามวิถีชาวบ้านก็ยังสามารถทำได้
ย้อนกลับไปที่มาของ การบรรจุกระท่อม ให้เป็นส่วนหนึ่งของยาเสพติดประเภทที่ 5 สืบเนื่องมาจากนักการเมือง ที่มีการออก พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. 2486 ในสมัยรัชกาลที่ 8 เนื่องจากฝิ่นที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดผลิตฝิ่นสุก ฝิ่นดิบ มีราคาแพง ทำให้คนหันมาสูบกระท่อมแทนฝิ่น กว่า 78 ปี มาจนถึงวันนี้ที่กระท่อมกำลังจะได้รับการปลดล็อกก็ด้วยนักการเมืองอีกเช่นกัน
ผมไม่อาจหยั่งรู้ถึงในเจตนาลึกๆ ของผู้ที่ริเริ่มเดินหน้า “ปลดล็อกกระท่อม”ออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ได้ เช่นเดียวกับที่ไม่อาจคาดคะเนจิตใจของ พรรคการเมืองหนึ่งที่เดินหน้า “ปลดล็อกกัญชา” โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่เราก็ได้รับรู้แล้วว่า “กฎหมายกัญชา” นั้นเป็นอย่างไร
สุดท้ายด้วยการออกกฎหมายครึ่งๆกลางๆ กับเจตนาตื้นๆ ที่อาจเป็นหวังเพียงเสียงจากประชาชนเป็นคะแนนเลือกตั้ง จึงทำให้วันนี้ “กัญชา” กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่โตไม่สุดในวงของชาวบ้านร้านตลาด แต่กลับพุ่งทะยานในวงปั่นหุ้น และต่อยอดให้กับธุรกิจยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า
ผมมีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับ “พงศธร สุวรรณสุทธิ์” ที่ปรึกษา กมธ.พืชกระท่อม สภาผู้แทนราษฎร โดยเขาเป็นคนหนึ่งที่ใช้กระท่อมเพื่อการบริโภคมากว่า 30 ปี “พงศธร” ได้ให้ทัศนะ เกี่ยวกับ การปลดล็อกพืชกระท่อมว่า
“กว่า 80% กฎหมายฉบับนี้ เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งกินตามประเพณีนิยมมาตั้งแต่อดีต ช่วยตัดช่องว่างของเจ้าหน้าที่ในการจับกุมคดี ซึ่งขัดต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน รวมทั้งเป็นการฟื้นตำรับยาโบราณที่ใช้รักษาผู้ป่วย ซึ่งหายสาญสูญไปภายหลังจากที่กระท่อมเป็นยาเสพติด”
จากข้อมูลของ “พงศธร” ได้กล่าวถึง ข้อดีของพืชกระท่อม ที่สามารถส่งเสริมการปลูกเพื่อเป็นรายได้เสริม คือ กระท่อมเป็นพืชยืนต้นที่ทนต่อสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยในอดีต บ้านบางอิฐ ต.คลองน้อย อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็น 1 ในแหล่งปลูกใหญ่ที่สุดในภาคใต้
“ในภาคใต้ คนไม่ได้รู้สึกว่ากระท่อม ผิดกฎหมาย เหมือนกัญชา และให้การยอมรับกระท่อม ว่าเป็นเหมือนยาชูกำลังที่ช่วยให้สามารถทำงานได้ สมัยก่อน อ.ปากพนังมีโรงฝิ่น เรียกว่า “ตลาดใหม่” ผลของการสูบฝิ่นทำให้ร่างกายเชื่องช้า เกียจคร้าน หมอยาโบราณจึงใช้กระท่อม เป็นยาถอนฝิ่น ช่วยให้หายปวดเมื่อย และตลายฤทธิ์ของฝิ่น”
“พงศธร” ยังให้ข้อมูลอีกว่า ผลจากการปราบปรามพืชกระท่อม ของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างจริงจังที่ผ่านมา ทำให้เกิดการลักลอบนำเข้ากระท่อมจากมาเลเซีย คาดว่าระมาณปีละ 1,000 ตัน สิ่งเหล่านี้ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น หากว่ามีการปลดล็อกกระท่อม และช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน โดยที่ภาครัฐต้องเห็นความสำคัญเข้ามาส่งเสริม การพัฒนาสายพันธุ์ การปลูก และการรวมกลุ่มแปรรูป ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้พืชกระท่อม สามารถเติบโตเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของไทยได้
ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก “พงศธร” ได้ช่วยขยายความถึงประโยชน์ของพืชกระท่อม ในมุมมองของผู้บริโภค และคนซึ่งมีวิถีชีวิตอยู่กับพืชชนิดนี้ได้
อย่างไรก็ตาม เส้นทางของ พืชกระท่อม นั้นยังอีกยาวไกล แม้ว่า การปลดล็อกพืชกระท่อม ที่ใช้กิน ปลูก จำหน่ายได้อย่างไม่จำกัด โดยยกเว้นการห้ามจำหน่ายในเด็กต่ำกว่า 18 ปี หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร แล้ว
เราก็ยังเป็นอุปสรรคในวันข้างหน้า ถึงเรื่องของการส่งเสริมทางการตลาด ซึ่งจะต้องสอดคล้องทั้งดีมานด์และซัพพลาย ซึ่งปัจจุบันราคาของกระท่อม อยู่ที่ประมาณ 400 บาท/ก.ก. โดยก่อนหน้านี้ ราคาจำหน่ายใบสด ได้พุ่งขึ้นไปถึง 1,200 บาท/กก.
ก้าวสำคัญอีกก้าวคือส่งเสริมตลาดในต่างประเทศ ซึ่งใช้กระท่อมทางการแพทย์ โดยปัจจุบันข้อตกลงอาเซียน (Asian Agreement) ด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือยาที่ใช้ในการรักษาโรค
กระท่อม ยังคงถูกห้ามมิให้นําไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากอยู่ในบัญชีที่เป็น Nagative list ซึ่งเมื่อประเทศไทยมีการถอดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ และมีกฎหมายคุ้มครองและรับรองพืชกระท่อมอย่างชัดเจนแล้ว ก็จะต้องดําเนินการเจรจาตกลงกับประเทศภาคีสมาชิกต่าง ๆ เพื่อปลดพืชกระท่อมออกจาก Negative list ในอนาคตต่อไป