ทำความรู้จักกับ Trove ร้านขายสินค้าออนไลน์จากแบรนด์ดังมือสอง ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์มีชื่อระดับโลก ที่ก่อตั้งโดย Andy Ruben


Trove เป็นร้านค้าครบวงจรสำหรับลูกค้าที่ต้องการเสื้อผ้ามือสองจากแบรนด์ดังหลายเจ้า โดยในแต่ละวันกล่องจำนวนหลายร้อยใบ จะถูกขนมาบนพาเลทขนาดใหญ่เพื่อให้เหล่าคนงานช่วยกันเปิดดูภายใน ซึ่งในนั้นจะมีของที่ทำให้ทึ่งได้อยู่เสมอ เพราะที่นี้ถือว่า ขยะของคนหนึ่งคือสมบัติชิ้นใหม่สำหรับอีกคนหนึ่ง โดยทีมงานจะใช้แสงไฟในโกดังส่องหาตำหนิ รอยสีตก หรือรูเจาะบนสินค้า และตรวจดูว่าเป็นของแท้หรือไม่ เมื่อตรวจสอบผ่านแล้ว พวกเขาจะทำความสะอาด ถ่ายภาพ และเตรียมนำสินค้าแต่ละชิ้นลงประกาศขายออนไลน์ทันที 

.

.

Andy Ruben วัย 48 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของสตาร์ทอัพอายุ 9 ปีในนาม Trove ผู้ทำงานอยู่เบื้องหลังเพื่อช่วยจัดการธุรกิจขายเครื่องแต่งกายมือสองให้แบรนด์ Patagonia, REI, Levi’s, Arc’teryx, Taylor Stitch และ Eileen Fisher โดยเขามีหน้าที่ช่วยบริษัทต่างๆ ทำกำไรจากของมือสอง ซึ่งปกติแล้วลูกค้าคงเอาไปจำนำตามร้านของเก่าหรือโยนลงกองขยะ

.

.

จากข้อมูลของ ThredUp บริษัทรับฝากขายสินค้าออนไลน์จากเมือง San Francisco ได้เผยให้เห็นตัวเลขของธุรกิจสินค้ามือสองซึ่งมีมูลค่ากว่า 2.8 หมื่นล้านเหรียญ และคาดว่ามูลค่าจะเพิ่มกว่าเท่าตัวเป็น 6.4 หมื่นล้านเหรียญภายในปี 2024

ซึ่งเทรนด์การซื้อสินค้ามือสองกำลังอยู่ในกระแสของคนรุ่นใหม่ที่ชอบแวะเวียนไปเลือกหาสินค้าที่ตนเองสนใจอยู่ เพราะผู้บริโภคเจน Z ส่วนใหญ่มองว่า การซื้อสินค้ามือสองไม่ใช่เรื่องเสียหายและคนรุ่นนี้ 40% เคยซื้อเสื้อผ้า รองเท้า หรือเครื่องประดับมือสอง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเท่าตัวของคนรุ่นเจน X และบูมเมอร์

Trove เริ่มต้นจากการเป็นตลาดสินค้ามือสองที่ผู้ซื้อและผู้ขายติดต่อกันเองโดยตรง ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำของที่ไม่ใช้แล้วมาลงขายและเลือกซื้อสินค้ามือสองได้ พวกเขาได้ผู้ใช้งานมา 2-3 ล้านคน แต่ลงเงินไปกับโฆษณาทางสื่อโซเชียลเยอะมาก และดิ้นรนหาสินค้าคุณภาพดีมาขาย แต่ Ruben เริ่มสังเกตว่าลูกค้าจะตื่นเต้นที่สุดเมื่อคุ้ยกองขยะแล้วเจอของแบรนด์เนม

.

.

แต่ก็แน่นอนว่า Trove ไม่ได้ครองพื้นที่นี้แต่เพียงผู้เดียว บริษัทนี้ต้องสู้รบกับตลาดออนไลน์อีกเป็นโขยง จนตัดสินใจปิดกิจการตลาดสินค้ามือสองในปี 2016 แล้วปล่อยให้ Poshmark, ThredUp และ The RealReal ชิงพื้นที่กันต่อไป เพื่อหันมาเน้นสร้างบริการแบบป้ายขาว ช่วยแบรนด์ต่างๆ และผู้ค้าปลีกขายสินค้ามือสองของแบรนด์ตัวเอง

ลูกค้ารายแรกของ Ruben คือ Patagonia ซึ่งขยายโครงการ “Worn Wear” (ใส่ของเก่า) ออนไลน์ร่วมกับ Trove ในปี 2017 โดยชวนลูกค้าให้ส่งของมือสองมาแลกบัตรกำนัล จึงช่วยให้สินค้าทะลักเข้ามาในทันที สินค้าเหล่านี้จะถูกส่งตรงไปที่คลังในรัฐ California (ซึ่ง Trove เป็นผู้ดูแล) จากนั้นก็จะนำมาลงประกาศขายบนเว็บไซต์ (ซึ่ง Trove เป็นผู้สร้าง) จากนั้นแบรนด์อื่นๆที่มองเห็นโอกาส จึงค่อยตามมาไม่ขาดสาย

Ruben ทำนายว่า ปริมาณสินค้ามือสองที่แบรนด์ต่างๆ และผู้ค้าปลีกขายได้จะแซงสินค้าใหม่ในตลาดออนไลน์อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่กล้ามาก แต่ยังอีกไกลกว่าจะเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม เทรนด์ตลาดเข้าข้างเขา และการขายสินค้ามือสองก็ยังเป็นงานน่าปวดหัวที่บริษัทใหญ่เต็มใจจะจ้างคนอื่นมาทำแทน

เทรนด์สินค้ามือสองนี้ยังให้กำเนิดคำใหม่ที่โดนใจนักการตลาดอีกด้วย นั่นคือคำว่า รี-คอมเมิร์ซ (re-commerce คือ การสร้างมูลค่าจากของใช้แล้ว) “เมื่อมองในหลายๆ แง่ ธุรกิจรี-คอมเมิร์ซของเราทำได้ตามเป้าหมายที่เราคาดหวังไว้ทุกอย่าง นั่นคือการขายสินค้าให้ลูกค้าจำนวนมากขึ้นๆ ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม” Ken Voeller ซึ่งบริหารการขายสินค้ามือสองให้แบรนด์ REI กล่าว