“นมกัญชง” แปรรูปผลิตภัณฑ์ “กัญชง” ที่มีมากกว่าเส้นใย


 

“กัญชง” ในประเทศไทย ดูจะได้รับความนิยมน้อยกว่า “กัญชา” ข่าวคราวที่ว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. เปิดขายเมล็ดกัญชง และมีผู้จองกว่า 300 ราย ก็ดูจะเงียบหายไปโดยไม่รู้ว่าข้อสรุปเป็นอย่างไร

 

แต่หากดูจากความตั้งใจและจุดประสงค์ของการเปิดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ดังกล่าว ที่ต้องการส่งเสริมการปลูกกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยเปิดจำหน่ายให้เกษตรกร หน่วยงานรัฐ และเอกชน รวมทั้งบุคคลทั่วไปและนิติบุคคล ก็พอจะเห็นทิศทางว่าเป็นเรื่องที่ดี

 

ที่ว่าเกษตรกร ส่วนใหญ่มุ่งส่งเสริมให้กับเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ซึ่งคาดว่าพื้นที่มีความเหมาะสมที่จะปลูกกัญชง เนื่องจากด้วยสภาพอากาศ และภูมิประเทศ รวมทั้งความเชี่ยวชาญ ด้านการปลูกที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ครั้งหนึ่งในอดีตพื้นที่ราบสูงก็เป็นแหล่งที่ผลิตกัญชงคุณภาพ ก่อนการปลดล็อกทางกฎหมาย

เมื่อกฎหมายปลดล็อกกัญชง ที่สามารถให้ใช้ส่วนของกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดได้ เช่น ใบ เมล็ด (seed และ grain) ราก ลำต้น และสารสกัด CBD ที่มี THCต่ำกว่า 0.2% นี่จึงอาจเป็นโอกาสหนึ่งของการต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร โดยขอยกเว้นพูดถึงเรื่องของยา ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ขั้นสูง หรือการแปรรูปเส้นใยในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

 

ผลิตภัณฑ์อาหารจาก “กัญชง” ดูจะเป็นส่งที่ตอบโจทย์สำหรับผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะ SME ซึ่งไม่ใช่แค่การใช้ใบ กิ่งก้านทำชา ซึ่งดูจะไม่เป็นที่นิยมมากเท่ากับกัญชา แต่เป็นการใช้ “เมล็ด” ซึ่ง ในเมล็ดกัญชงนั้นอุดมไปด้วย โปรตีน กรดอะมิโน และโอเมก้า 3 และสารที่สำคัญหลากหลาย

 

หลายปีที่ผ่านมา บริษัทสตาร์ทอัพจากออสเตรเลีย ก่อร่างสร้างตัวจนทำรายได้นับล้านเหรียญ (ประมาณกว่า 30 ล้านบาท) ต่อเดือน โดยเริ่มต้นจาก ไอศกรีมเมล็ดกัญชง จากแรงบันดาลใจที่ได้เดินทางมาท่องเที่ยวทางภาคอีสานของไทย ต่อยอดการผลิตอาหารที่มีโอเมก้า 3 จากปลาน้ำจืดอย่าง ปลาบึกในแม่น้ำโขง ไปสู่การค้นหาพืชที่อุดมด้วยโอเมก้า 3 สูง ซึ่งก็คือ เมล็ดกัญชง

 

โดยนำเมล็ดกัญชงมาผลิตเป็น ซีเรียล ที่ใช้เป็นอาหารเช้า จนทำไปสู่ผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชง ที่แตกแขนงออกไปมากมาย

เช่นเดียวกัน ล่าสุด เดอะการ์เดียน สื่อใหญ่ของอังกฤษ ได้เผยแพร่บทความ เรื่องอุตสาหกรรมนมกัญชง ซึ่งเกษตรกรในสหราชอาณาจักร เริ่มทำกันเมื่อไม่นานมานี้

 

บทความดังกล่าว กล่าวถึง การปลูกพืชกัญชง หรือใช้เมล็ดมาทำเป็นนกัญชง ซึ่งใช้น้ำน้อย เป็นการปลูกแบบอินทรีย์ ใช้ทรัพยากรการผลิตที่เรียกว่าน้อยมาก หากเปรียบเทียบอุตสาหกรรมนม ที่มาจากสัตว์ หรือถั่วเหลือง ซึ่งช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่เป็นศูนย์ นี่คือเรื่องที่ต่างประเทศกำลังให้ความสำคัญ และมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะส่งผลต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปขายยังประเทศนั้นๆด้วย

 

นมกัญชง คือ การนำเอาเมล็ดกัญชงที่ได้จากการปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช่สารเคมีใดๆ มาปั่นรวมกับน้ำจนละเอียด เป็นการผลิตหลัก ซึ่งคุณภาพของนมที่ได้เป็นนมไขมันต่ำ ไม่มีน้ำตาล และคอเรสเตอรอล แต่มีไขมันดี และมีโอเมก้า 3 ที่อยู่ในเมล็ดกัญชงในปริมาณที่สูง ที่สำคัญคือในเมล็ดกัญชง มี CBD ซึ่งช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่ไม่เมาแตกต่างจาก THC ในกัญชา

 

ดังนั้นหากจะส่งเสริมการปลูกกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจ จึงไม่ควรมองแค่อุตสาหกรรมเพียงไม่กี่มิติอย่าง การใช้เส้นใย หรือใช้เป็นยาทางการแพทย์ แต่เรื่องอาหาร ก็สามารถต่อยอดได้ ที่สำคัญนี่คือ 1 ในกระบวนการที่จะสร้างไทย ให้เป็นครัวโลก อย่างที่ทุกรัฐบาลคิดฝัน

 

จะดีไม่น้อย หากเรามุ่งส่งเสริมผลิตภัณฑ์ด้านอาหารจากกัญชง ซึ่งเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ โดยมีปัจจัยสำคัญที่มุ่งสู่ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ และปลอดภัย รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรื่องดังกล่าวเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยต่อผู้ประกอบการไทย ที่มีความสามารถ แต่ขาดโอกาส และการส่งเสริม