ส่องทิศทางตลาดนวัตกรรมอาหารโปรตีนทางเลือก กับมูลค่าตัวเลขราว 4,500 ล้านบาท ที่มาพร้อมความท้าทายของผู้ประกอบการ


หนึ่งใน Food Tech ที่กำลังอยู่ในกระแสบริโภคอย่างโปรตีนทางเลือก ถือว่าเติบโตโดดเด่นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในสาเหตุหลักที่ผู้คนต่างให้ความสนใจ มาจากเทรนด์ของผู้คนที่หันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองมากขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง และหากมองไปที่ปัญหาระดับโลก ด้วยจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าความเร็วในการผลิตอาหาร ทำให้โปรตีนจากเนื้อสัตว์อาจผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

นอกจากนี้การเลี้ยงปศุสัตว์ยังก่อให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งทำลายชั้นบรรยากาศ อีกทั้งยังช่วยลดพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งก็แน่นอนว่าจะส่งผลให้มีพื้นที่เพียงพอในการผลิตอาหารให้กับประชากร แหล่งโปรตีนอื่นๆ จึงเป็นทางเลือกที่จะมาทดแทนเนื้อปศุสัตว์

โปรตีนทางเลือก คือโปรตีนที่ไม่ได้มาจากเนื้อปศุสัตว์ โดยผลิตจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น พืช สาหร่าย ถั่ว แมลง เชื้อราที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และโปรตีนจากการเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง เป็นต้น ซึ่งเรามักพบเห็นการกินโปรตีนจากพืชได้ง่ายๆ ในเทศกาลกินเจ หรือพบได้ในหมวดอาหารสำหรับผู้กินมังสวิรัติ ซึ่งโปรตีนทางเลือกเป็นอาหารที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้โลกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เนื้อจากพืช (Plant-Based Meat) มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมกระบวนการผลิตมาใช้ เช่น กระบวนการหมักที่เกิดจากการนำยีสต์และโปรตีนที่สังเคราะห์ได้จากรากของพืชตระกูลถั่ว เพื่อทำให้เกิดฮีม (Heme) ที่มีลักษณะคล้ายกล้ามเนื้อของสัตว์ หรือกระบวนการหมักจากถั่วเหลือง ยีสต์และสารสกัดจากเมล็ดดอกทานตะวัน เพื่อผลิตเนื้อที่มีความใกล้เคียงอาหารทะเล

.

.

ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญและให้บทบาทกับโปรตีนทางเลือกมากขึ้น เห็นได้จากตลาดของโปรตีนทางเลือกมีการเติบโตที่สูง และมีผู้สนใจลงทุนจำนวนมาก เช่น ร้าน Dunkin Donut ร่วมมือกับ Beyond Meat บริษัทอาหารรายใหญ่ เพื่อทำเมนูอาหารเช้าจากโปรตีนทางเลือก หรือ Burger King, McDonald’s และ Subway ได้เพิ่มส่วนประกอบที่เป็นโปรตีนทางเลือกจากพืชในเมนูอาหาร

ขณะที่ IKEA ได้เสนอลูกชิ้นผักที่ทำจากถั่วลูกไก่ ถั่วลันเตาและแครอท โดยพัฒนาให้มีลักษณะและรสชาติเหมือนลูกชิ้นแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีบริษัทอีกหลายแห่งทั่วโลกที่ปรับตัวด้านอาหารให้สามารถใช้โปรตีนทางเลือกมาทดแทนเนื้อสัตว์ได้

สำหรับในประเทศไทยเอง ก็มีบริษัท Startup ที่มีการผลิตและวางจำหน่าย Plant-Based Meat ในตลาด เช่น บริษัท More Meat จำกัด, บริษัท Meat Avatar จำกัด และบริษัท NRF จำกัด

.

โดยมีการคาดการณ์จาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่า ตลาดโปรตีนทางเลือกในไทยน่าจะเติบโตได้จากการเข้าถึงสินค้าที่ง่ายของผู้บริโภคผ่านหลากหลายช่องทางการจำหน่าย บวกกับความต้องการที่มาจากกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และกลุ่ม Flexitarian ที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังเปราะบางจากการระบาดของโควิดที่ยังรุนแรง ประกอบกับความหลากหลายของอาหารทั้งประเภทและราคาที่มีให้เลือกเยอะและอาจทดแทนกันได้ ก็น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือกของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันมีราคาเฉลี่ยที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ

.

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่า ปี 2564 ตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ในไทย น่าจะมีมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของตลาดโปรตีนทางเลือกทั้งหมดในไทย ที่มีมูลค่ากว่า 3.62 หมื่นล้านบาท

และมูลค่าตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมใหม่มีโอกาสขยับไปสู่ 5,670 ล้านบาทได้ภายในปี 2567 (CAGR 2564-2567: 8% ต่อปี) โดยปัจจุบันโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมใหม่ในไทยส่วนใหญ่กว่า 89% ของมูลค่าตลาดรวมจะอยู่ในกลุ่มอาหาร ส่วนอีก 11% จะอยู่ในกลุ่มเครื่องดื่ม แต่การขับเคลื่อนตลาดน่าจะมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่า SMEs จากความได้เปรียบเรื่องศักยภาพในการผลิตและช่องทางการจำหน่าย ซึ่งหาก SMEs จะแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่ ซึ่งนอกจากเรื่องรสชาติ อาจจะต้องสร้างความแตกต่างในเรื่องของวัตถุดิบ การตลาดและราคาที่สามารถแข่งขันได้

​นอกจากนี้ เมื่อมองไปข้างหน้า ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพอาจจะมองหาตลาดส่งออกซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขยายตลาด และอาจจะมีโอกาสเติบโตได้เร็วกว่าตลาดในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่มาจากโปรตีนจากแมลง ซึ่งปัจจุบันได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงเชิงพาณิชย์จากภาครัฐ เพื่อรับกับเทรนด์อาหารเพื่ออนาคต

อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยเป็นสินค้านวัตกรรมอาหารใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาถึงกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าของคู่ค้าแต่ละประเทศอย่างรอบคอบ

.