วิธีกําจัดขยะติดเชื้อโควิด หลังมีปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 94% และมีแนวโน้มว่าในปี 2564 จะมีขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 61.3 ล้านกิโลกรัม


สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย และยังคงพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันสูง ส่งผลให้คาดว่า ปริมาณขยะติดเชื้อหรือมูลฝอยติดเชื้อในช่วงที่เหลือของปี 2564 น่าจะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น

มีความเห็นถึงสถานการณ์ขยะติดเชื้อ โดยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัยเอาไว้ว่า ขยะติดเชื้อ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 พบปริมาณขยะติดเชื้อเกิดขึ้นมากกว่า 294 ตันต่อวัน ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 94 ส่วนใหญ่เป็นขยะประเภทภาชนะบรรจุอาหาร เศษอาหาร ชุด PPE อุปกรณ์ฉีดวัคซีน และชุดตรวจ Antigen Test Kit

ส่งผลทำให้เกิดปัญหาในการจัดเก็บขยะติดเชื้อ เนื่องจากหน่วยงานบริการ ผู้ปฏิบัติงานและยานพาหนะที่ใช้สำหรับการ เก็บขนขยะติดเชื้อมีไม่เพียงพอ ทำให้หลายจังหวัดมีปริมาณขยะติดเชื้อตกค้าง ณ แหล่งกำเนิดและสถานที่รับกำจัด จำนวนมาก เช่น พื้นที่นนทบุรี ระยอง เป็นต้น

.

.

.

ผนวกกับการคาดการณ์ที่ทำโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งคาดว่า ปริมาณขยะติดเชื้อในปี 2564 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 61.3 ล้านกิโลกรัม เพิ่มขึ้นกว่า 2.0 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงปกติที่ไม่มีการระบาดของโควิดในปี 2562 โดยตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมปริมาณขยะติดเชื้อที่มาจากผู้ป่วยทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณขยะที่เกิดขึ้นเท่าทวีคูณ

และจากปริมาณขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการขยะติดเชื้อในปี 2564 น่าจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 920 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ยังไม่มีการระบาดของโควิด-19

ซึ่งต้นทุนในการบริหารจัดการขยะติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ ถือเป็นต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 และเกิดจากความจำเป็นในการป้องกันดูแลสุขภาพของประชาชนที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี หากมองอีกมุมหนึ่ง ต้นทุนจากขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นบางส่วนมาจากการป้องกันดูแลสุขภาพของประชาชนที่ระมัดระวังขึ้น ก็อาจจะช่วยลดค่าเสียโอกาสจากการเจ็บป่วยของโรคได้บ้าง แต่ทั้งนี้อาจจะต้องมาควบคู่กับการบริหารจัดการขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นอย่างถูกวิธีและปลอดภัยด้วยเช่นกัน

.

.

แนวทางการจัดการขยะติดเชื้อ โดยการคัดแยกขยะ ให้แยกออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

ปัจจุบันด้วยแนวโน้มการติดเชื้อที่ยังคงพุ่งสูง ทำให้ยอดคนป่วยมีจำนวนมากขึ้นตามเป็นลำดับ โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้ติดเชื้อผู้ป่วยสีเขียว หรือกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง ที่ยังคงสามารถกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) เพื่อสังเกตอาการตัวเองได้ แต่เพื่อความปลอดภัยในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อและป้องกันไม่ให้เชื้อโรคฟุ้งกระจาย เราจึงจำเป็นต้องรู้จักวิธีการแยกและทิ้งขยะติดเชื้อที่ถูกต้องตามคำแนะนำของกรมอนามัยและกรมควบคุมโรค

.

.

วิธีทิ้งหรือกำจัด ขยะติดเชื้อ สำหรับผู้ติดเชื้อรักษาตัวที่บ้าน

1.) ขยะติดเชื้อ ได้แก่ ขยะที่ปนเปื้อนหรือสงสัยจะปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ภาชนะและอุปกรณ์ที่ใช้ในการกินแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ช้อน ส้อม แก้ว หลอด เป็นต้น และชุด PPE

– โดยให้รวบรวมใส่ถุงแดง ในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่เกิน 2/3 ส่วน ให้เหลือพื้นที่มัดปากถุงให้แน่น 

– ใส่น้ำยาฟอกขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ 2 ฝาก่อนใส่ถุงอีกชั้น จากนั้นปิดปากถุงให้สนิท

– เก็บรวบรวมในถุงสีแดง หรือถังขยะสีแดง หากไม่ถุงแดง ให้เขียนหน้าถุงว่า ขยะติดเชื้อก่อนทิ้งที่ถังขยะ เพื่อเตือนให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะได้รู้ พร้อมระวังและคัดแยกให้ถูกสุขลักษณะ

– ก่อนทำการทิ้งขยะติดเชื้อ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าถุงรั่วและขาดหรือไม่

– กำหนดเวลาในการเก็บรวบรวมขยะติดเชื้อจากห้องพักไปยังที่พักรวมขยะติดเชื้อที่แยกจากขยะประเภทอื่น

– ประสานเจ้าหน้าที่หรือผู้รับทำการเก็บขนขยะติดเชื้อ โดยให้ใช้รถขนขยะติดเชื้อเฉพาะเพื่อเก็บขนไปกำจัดด้วยวิธีที่ได้มาตรฐาน

2.) แยกออกจากขยะทั่วไป เช่น ขยะที่ไม่ได้ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย อาทิ เศษกระดาษ ถุงพลาสติก กระป๋องโลหะ ขวดแก้ว กล่องนม ขวดพลาสติก ถุงขนมบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น ในแต่ละวันให้รวบรวมและบรรจุขยะลงในถุงดำ มัดปากถุงให้แน่นแล้วเก็บรวบรวมในถังขยะสีเขียวหรือน้ำเงิน และนำไปกำจัดตามมาตรฐาน

3.) ขยะประเภทเศษอาหาร ให้คัดแยกขยะประเภทเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น ๆ รวบรวมใส่ภาชนะรองรับที่จัดไว้เฉพาะ จากนั้นนำไปหมักทำปุ๋ยต่อไป กระบวนการหมักที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นและระยะเวลา สามารถทำลายเชื้อโรคได้

.

.

วิธีทิ้งหรือกำจัด ขยะติดเชื้อ สำหรับผู้ประกอบการ สถานประกอบการ

สำหรับแนวทางของสถานประกอบการ เบื้องต้นควรยึดหลักตามคำแนะนำข้างต้นไว้เป็นหลัก โดยจำเป็นต้องมีพื้นที่จัดเก็บขยะเป็นสัดส่วน จำพวกขยะเศษอาหาร ควรคัดแยก ไม่ปะปนกับขยะประเภทอื่น และมีคำแนะนำดังต่อไปนี้

– ไม่หยิบย้ายขยะด้วยมือเปล่า ควรใช้คีมเหล็กคีบ และสวมถุงมือทุกครั้ง

– ขยะติดเชื้อ ควรทิ้งใส่ถุงขยะ และใส่น้ำยาฟอกขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ 2 ฝาก่อนใส่ถุงอีกขั้น จากนั้นปิดปากถุงให้สนิท

– ควรใส่ขยะติดเชื้อในถุงสีแดง หรือถ้าไม่มีถุงสีแดง ควรเขียนหน้าถุงว่า “ขยะติดเชื้อ“ ก่อนทิ้งที่ถังขยะ

– ก่อนทำการทิ้งขยะติดเชื้อ ควรตรวจสอบก่อนว่าถุงรั่วและขาดหรือไม่

– การเคลื่อนย้ายขยะ ควรจัดตารางการทิ้งขยะ และติดป้ายเพื่อกำกับข้างถุงให้ชัดเจน รวมไปถึงสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายก่อนทำการเคลื่อนย้ายขยะติดเชื้อ เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในสถานประกอบการ

.

เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งแรกที่ควรจะทำก่อนเป็นอันดับแรกๆคือ อย่าลืมใส่หน้ากากให้มิดชิด สวมถุงมือทุกครั้งที่จะต้องทำการคัดแยกขยะ ระหว่างขนย้ายควรระมัดระวังไม่ให้ร่างกายสัมผัสกับขยะ และเมื่อทำภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว ต้องล้างมือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้ง เพราะเราไม่รู้ว่า เชื้อโรคจะมาจากทางไหน จึงควรตั้งสติและทำทุกขั้นตอนด้วยความไม่ประมาท

.

.